วิจัยกรุงศรี ประเมินภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้ยังเป็นแรงหนุนหลักของเศรษฐกิจในปีนี้ พร้อมปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็น 28-29 ล้านคน จากเดิมคาด 27 ล้านคน ด้านภาคส่งออกอ่อนแอกว่าคาดท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ระบุปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกหดตัว -1.5% จากเดิมขยายตัว 0.5%
วันที่ 29 สิงหาคม 2566 วิจัยกรุงศรี ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในปีนี้เป็น 28-29 ล้านคน แต่ยังกังวลรายรับจากการท่องเที่ยว โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬารายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 20 สิงหาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยรวมทั้งสิ้น 17.03 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 741,421 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 2.66 ล้านคน จีน 2.11 ล้านคน เกาหลีใต้ 1.02 ล้านคน อินเดีย 0.98 ล้านคน และรัสเซีย 0.90 ล้านคน
โดยภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฏาคมแตะระดับ 2.49 ล้านคน สูงสุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปิดประเทศหลังการระบาดโควิดผ่อนคลายลง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งได้เป็นเดือนแรกที่จำนวนกว่า 4 แสนคน รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และเวียดนาม
ล่าสุดวิจัยกรุงศรีปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เป็น 28-29 ล้านคน จากเดิมคาด 27 ล้านคน ปัจจัยบวกจากการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ การเมืองในประเทศที่ชัดเจนขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและหนุนการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมแต่คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อรายได้รวมอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปไม่ได้สูงมากนักเห็นได้จากรายได้จากนักท่องเที่ยวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 เฉลี่ยเพียง 41,000 บาทต่อคน เทียบกับ 48,000 บาทต่อคนในช่วงปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19
ขณะที่มูลค่าส่งออกเดือนกรกฏาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ -6.2% วิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์ส่งออกทั้งปีหดตัวที่ -1.5% กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 22.1 พันล้านดอลลาร์ หดตัวที่ -6.2% YoY โดยหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -0.8% และหากหักน้ำมันทองคำ และยุทธปัจจัย มูลค่าส่งออกในเดือนนี้หดตัวที่ -2.0% โดยการส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่หดตัว อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน-5 และ CLMV ขณะที่ตลาดสหรัฐเป็นบวกได้เล็กน้อยจากหดตัวในเดือนก่อน
ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -7.7% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ -3.4% สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี (มกราคม-กรกฏาคม) มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวที่ -5.5% มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกรกฏาคมปรับลดลงกว่า 10% จากเดือนมิถุนายนที่มีมูลส่งออก 24.8 พันล้านดอลลาร์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ที่ 23.5 พันล้านดอลลาร์
สะท้อนการส่งออกที่ยังอ่อนแอท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของประเทศแกนหลักซึ่งทำให้อุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัว อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางฟื้นตัวช้าลงภายหลังแรงส่งจากการเปิดประเทศเริ่มแผ่วประกอบกับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจบั่นทอนการใช้จ่าย
ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงยังคงเปราะบาง แม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจเห็นมูลค่าส่งออกกลับมาเป็นบวกได้บ้าง แต่เป็นผลจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่จีนมีการล็อคดาวน์ล่าสุดวิจัยกรุงศรีจึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปีนี้เป็นหดตัวที่ -1.5% จากเดิมคาดว่าจะโตเล็กน้อยที่ 0.5%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ