มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด (Altervim Co., Ltd) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงาน ทางวิชาการและปฏิบัติการในโครงการเกี่ยวกับ Clean Energy เพื่อวิจัยเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาการผลิต และการกักเก็บพลังงาน รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ด้านพลังงานหมุนเวียน ในพิธีลงนาม มีศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงนามร่วมกับนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ ขุนทอง รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและความร่วมมืออุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายจักรกฤษณ์ ศิวพรเสถียร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน จัดขึ้น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ เปิดเผยว่า “บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด เป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งดำเนินธุรกิจ พัฒนา และลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแบบครบวงจรในประเทศไทย มาเลเซีย และจีน โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพลังงานสะอาด เพราะนอกจากจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้อีกด้วย นอกจากนี้การดำเนินงานของอัลเตอร์วิม ยังสอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายของเครือซีพีที่มุ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050”
ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ยอดสุดใจ กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เน้นการสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ มิติของสังคมมิติของเศรษฐกิจ และมิติของสิ่งแวดล้อม การร่วมมือในครั้งนี้จึงนับเป็นการร่วมมือที่มีความสำคัญ ซึ่งการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจเอกชน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาการ และสร้างความเป็นมืออาชีพให้แก่นิสิตและคณาจารย์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ”
การร่วมมือดังกล่าว ทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด จะส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการดำเนินงาน รองรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของบริษัท เบื้องต้นจะมีการร่วมศึกษาใน 4 ประเด็น คือ 1. ศึกษาเทคโนโลยีและการลงทุน แบตเตอรี่ สำหรับการกักเก็บพลังงาน ในรูปแบบต่างๆ (LPF, Li-on, Flow battery, etc.) 2.ศึกษาเทคโนโลยีและการลงทุน ระบบ Hydrogen (H2) ที่ใช้สำหรับระบบการกักเก็บพลังงาน (electrolyze และ Fuel Cell) 3. Ground-source heat pump system และ 4. Other new energy technology