5 มีนาคม 2568 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้จัดการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 63 ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2568 โดยมีแนวคิดหลักคือ “ปัญญาประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมและความยั่งยืนในการพัฒนาทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติจริง ในโอกาสนี้ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “นวัตกรรมและความยั่งยืน : ยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่ากระบือไทย” โดยมี รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ จากหน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตว์เขตร้อนชื้น ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณสุพชัย ปัญญาเอก ผู้จัดการโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ คุณจิราภัค ขำเอนก ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกระบือจังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าของรวินันท์ฟาร์ม สพ.ญ.ธาราทิพย์ พุ่มระชัฎร์ จากโครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย คุณนิรุจน์ พันธ์ศรี จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ กรมปศุสัตว์ รวมทั้ง คุณสานน กันรัมย์ ผู้จัดการบริษัท สไมล์ บีฟ จำกัด ร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนา ซึ่งดำเนินรายการโดย คุณธัญวรรณ ศรีวาจนะ จากสถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการจัดขึ้นที่ ห้องประชุม 306 ชั้น 3 สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ อาจารย์ประจำ หน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตว์เขตร้อนชื้น (TAGU) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานเสวนาครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าของการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โครงการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย รวมถึงเกษตรกรจากรวินันท์ฟาร์ม ปศุสัตว์ในพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ และบริษัท สไมล์ บีฟ จำกัด ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมแชร์ประสบการณ์และความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นการพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมในการผลิตกระบือไทย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีการจัดเก็บข้อมูลพันธุ์ประวัติ น้ำหนัก และขนาดร่างกายที่อายุแตกต่างกันจากโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย และเกษตรกรในโครงการฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำ “หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2568” เล่มที่ 2 หรือ Buffalo Sire and Dam Summary 2025 ซึ่งในรอบการดำเนินงานนี้ได้ประเมินความสามารถในการเป็นแม่ (maternal ability) ของกระบือเพศเมีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำและความไม่ลำเอียงในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กระบือ
“เป้าหมายในอนาคต คือ การศึกษาทำความเข้าใจในความผันแปรทางพันธุกรรมในระดับจีโนม เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มที่ โดยมุ่งยกระดับฟาร์มกระบือให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือให้แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พร้อมพัฒนากระบือรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนและโอกาสในธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ “การใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุ์ประวัติ ข้อมูลลักษณะที่ปรากฏ และข้อมูลพันธุกรรมระดับจีโนม ในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรม การคัดเลือก และการจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อการปรับปรุงพันธุ์กระบือ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การจัดการดูแลแม่อุ้มท้อง แม่เลี้ยงลูก จนถึงการพัฒนากระบือรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ และสามารถเจริญเติบโตแสดงคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเป็นกระบือพ่อแม่พันธุ์ทดแทนจะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รศ.ดร.ศกร กล่าว
คุณสุพชัย ปัญญาเอก เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่าน “โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย (Buffalo Modern Farm)” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่าน หน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตวเขตร้อนชื้น (TAGU) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำองค์ความรู้ด้านการจัดการฟาร์มกระบือมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลพันธุ์ประวัติ น้ำหนัก และขนาดร่างกายในแต่ละช่วงอายุ พร้อมวิเคราะห์สถิติข้อมูล เพื่อยกระดับศักยภาพพันธุกรรมของกระบือไทย ให้สามารถผลิตกระบือคุณภาพสูง ตอบโจทย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
คุณสุพชัย กล่าวต่อว่า เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต สร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมที่แม่นยำ และเสริมความรู้-ทักษะให้เกษตรกรไทยสามารถพัฒนากระบือไทยให้ได้มาตรฐานสูง พร้อมสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจฟาร์มกระบือเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ “หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ ปี 2568” ยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดเลือกและพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกระบือไทย โดยมีเป้าหมายในการสร้าง ศูนย์กลางการพัฒนาพันธุกรรมกระบือไทย ที่เน้นการพัฒนากระบือปลักไทยให้เป็นกระบือพันธุ์ดี เสริมศักยภาพเกษตรกรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย สามารถต่อยอดสู่การทำฟาร์มเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การจัดการอาหารและสุขภาพ ไปจนถึงการเชื่อมโยงตลาดอย่างครบวงจร
ขณะเดียวกัน โครงการฟาร์มกระบือทันสมัยยังเปิดรับสมัครเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงกระบือฝูงเล็ก 6-10 ตัว เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์ สร้างเครือข่ายข้อมูลที่เข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพกระบือไทยร่วมกัน จากข้อมูลพบว่า เกษตรกรที่เลี้ยงกระบืออย่างต่อเนื่อง มักมีฝูงเฉลี่ยประมาณ 6 ตัว ซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุกรรมกระบือไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เครือซีพีเชื่อมั่นว่า การอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยควบคู่กับการยกระดับรายได้ของเกษตรกร จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
คุณจิราภัค ขำเอนก ได้แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะเกษตรกรเกี่ยวกับ ‘พลังของเครือข่ายผู้เลี้ยงกระบือ และบทบาทของธนาคารโค-กระบือ’ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเลี้ยงกระบือได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของเครือข่ายเกษตรกรในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ไม่เพียงแต่ในด้านการพัฒนาสายพันธุ์และการเลี้ยงกระบือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการผลิตน้ำนมกระบือ ซึ่งเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและขยายโอกาสทางการตลาด ทั้งยังมีการหารือถึงแนวทางในการพัฒนาระบบตลาดให้เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบืออีกด้วย
สพ.ญ.ธาราทิพย์ พุ่มระชัฎร์ นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์กระบือไทยให้คงอยู่และได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงพันธุ์ผ่านเทคโนโลยีชีวภาพ การขยายประชากรกระบือให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเลี้ยงเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูล การพัฒนาฐานข้อมูล และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลด้านพันธุกรรมและการผลิต เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการกระบือไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน คุณนิรุจน์ พันธ์ศรี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางสนับสนุนของภาครัฐในการช่วยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกระบือได้อย่างมั่นคงและแข่งขันในตลาดได้ โดยครอบคลุมนโยบายและมาตรการส่งเสริมการพัฒนากระบือไทยในทุกมิติ ตั้งแต่การเลี้ยงเชิงอนุรักษ์ไปจนถึงการพัฒนาแนวทางการผลิตที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพสัตว์ที่จำเป็น เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงกระบือให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ
คุณสานน กันรัมย์ เล่าถึงโอกาสทางการตลาดเนื้อกระบือไทย และได้เน้นย้ำถึง ความสำคัญของโภชนาการและการตลาดในอุตสาหกรรมเนื้อกระบือ โดยกล่าวว่า การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการขุนและอาหารที่เหมาะสม การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพเนื้อกระบือขุนให้ได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น
การเสวนาครั้งนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การพัฒนากระบือไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การสร้างคุณค่าให้กับกระบือไทย มิได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์สายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จากกระบืออย่างเหมาะสม การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ การพัฒนากระบือไทยยังเป็นการส่งเสริมให้กระบือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง
จากการเสวนาครั้งนี้ สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
- เครือข่ายเกษตรกร มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเลี้ยงกระบือไทย
- เทคโนโลยีด้านพันธุกรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- ภาครัฐ มีบทบาทในการสนับสนุนเกษตรกรผ่านมาตรการช่วยเหลือและการส่งเสริมอุตสาหกรรม
- การอนุรักษ์สายพันธุ์ควบคู่กับการพัฒนา เป็นแนวทางที่จำเป็นต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกระบือไทย
- การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากกระบือ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างรายได้และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร
การเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการพัฒนากระบือไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา ไม่เพียงช่วยรักษาสายพันธุ์แท้ของกระบือไทย ป้องกันการสูญพันธุ์ และรักษาจำนวนประชากรกระบือในประเทศ แต่ยังช่วยให้กระบือไทยสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม คุณภาพในการบริหารจัดการ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการเพิ่มผลผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร แต่ยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต