เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ได้มีการเปิดตัว Southeast Asia Flash Flood Guidance System (SeAFFGS) ระบบเตือนน้ำท่วมฉับพลันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการยกระดับการแจ้งเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเนื่องมาจากอุทกภัยในภูมิภาค
น้ำท่วมฉับพลันเป็นหนึ่งใน ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในโลกโดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,000 คนต่อปี สร้างผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล น้ำท่วมฉับพลันซึ่งคิดเป็นประมาณ 85% ของอุทกภัยโดยรวม ยังมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในบรรดาอุทกภัยประเภทต่างๆ รวมถึงน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำและน้ำท่วมชายฝั่ง
น้ำท่วมฉับพลันต่างจากน้ำท่วมในแม่น้ำตรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งทำให้การคาดการณ์น้ำท่วมฉับพลันเป็นความท้าทายที่ต่างจากการคาดการณ์น้ำท่วมในแม่น้ำสายใหญ่ ในการพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลัน สิ่งที่คำนึงถึงหลักคือการคาดการณ์การเกิดอุทกภัย โดยเน้นไปที่เหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุสองประการ คือ 1) ฝนตกหนัก และ 2) ฝนตกบนดินชุ่มน้ำ
น้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นทั่วโลก และจะกินเวลาต่างกันไปตามภูมิภาค ตั้งแต่นาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับพื้นผิวดิน ลักษณะทางธรณีวิทยาและสภาพอากาศหรือน้ำของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่มีกระบวนการที่เป็นทางการหรือความสามารถในการพัฒนาคำเตือนน้ำท่วมฉับพลัน
เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะการขาดความสามารถในการพัฒนาคำเตือนน้ำท่วมฉับพลันที่มีประสิทธิภาพ จึงมีการพัฒนาระบบ FFGS ขึ้นเพื่อให้นักอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาทั่วโลกนำไปใช้ระหว่างกัน
ระบบ FFGS(Flash Flood Guidance System) ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO),หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา/สำนักงานความช่วยเหลือด้านภัยพิบัติต่างประเทศของสหรัฐฯ (U.S. Agency for International Development/Office of U.S. Foreign Disaster Assistance:USAID), องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Ocenic and Atmospheric Administration/National Weather Service: NOAA) และ ศูนย์วิจัยอุทกวิทยา (Hydrologic Research Center :HRC) โดยจะทำงานร่วมกันเพื่อให้นำ FFGS ไปใช้ทั่วโลก
เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการยกระดับการทำงานด้านอุทกวิทยาและการเตือนภัยล่วงหน้าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม จึงได้การลงนามในบันทึกความเข้าใจที่สำนักงานใหญ่ของ WMO แต่งตั้งให้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งเวียดนาม (Nam Meteorological and Hydrological Administration :VNMHA)เป็นศูนย์ภูมิภาคของ SeAFFGS (SeAFFGS Regional Centre )
ภายใต้ข้อตกลงนี้เวียดนามในฐานะศูนย์ภูมิภาคจะให้คำแนะนำและการคาดการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่มีประสิทธิภาพภายในเวียดนาม และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมกัมพูชา สปป. ลาว และไทย ในการให้การคาดการณ์ ข้อมูล และการฝึกอบรม
ศูนย์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่นี้จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายระบบแนะแนวน้ำท่วมฉับพลันขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 67 ประเทศ และเป็นแผนงานหลักในการรณรงค์ของ WMO เพื่อให้การแจ้งเตือนล่วงหน้าส่งถึงทุกคนในโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติทางน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม
ทั้งนี้เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าการพัฒนาและการนำระบบพยากรณ์น้ำท่วมฉับพลันไปใช้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยสาธารณะได้อย่างมาก
การแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันที่แม่นยำและทันเวลา จะช่วยให้หน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบสามารถดำเนินมาตรการที่เหมาะสมได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนในการปกป้องประชากรที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
“จากการทำงานหนักและทุ่มเทความพยายามมา 5 ปี ระบบเตือนน้ำท่วมฉับพลันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งผมเชื่อว่าจะช่วยชีวิตคนจำนวนมากและลดต้นทุนความเสียหายที่สำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ในวันนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญมากสำหรับชุมชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม และสำหรับเวียดนาม โดยเฉพาะในการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ” ศาสตราจารย์เจิ่น หงท้าย ผู้บริหาร VNMHA กล่าว
ดร.เหวินเจี้ยน จาง ผู้ช่วยเลขาธิการ WMO ในฐานะตัวแทนเลขาธิการใหญ่ประจำองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกนายเพตเทอริ ทาลาส กล่าวว่า ศูนย์ภูมิภาคจะมีบทบาทสำคัญในการทำงานโดยรวมของโครงการ SeAFFGS เสริมสร้างความร่วมมือและเพิ่มขีดความสามารถของบริการอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติ เพื่อให้การคาดการณ์และคำเตือนในเวลาที่เหมาะสมและแม่นยำ
SeAFFGS พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ “Building Resilience to High-Impact Hydrometeorological Events through Strengthening Multi-Hazard Early Warning Systems (MHEWS) ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (SIDS) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลแคนาดา (Environment and Climate Change Canada – ECCC) และดำเนินการโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกและศูนย์วิจัยอุทกวิทยา และมี NOAA เป็นผู้ให้ข้อมูลดาวเทียมเข้าสู่ระบบ
สปป.ลาวน้ำท่วมจากฝนตกหนัก
การเปิดตัวระบบเตือนน้ำท่วมฉับพลันของ WMO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในเวียดนาม ภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่ชายแดนของเมียนมา และภาคเหนือของลาว จากฝนตกหนักจากการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนมู่หลาน
พายุโซนร้อนมู่หลานพัดขึ้นฝั่งในพื้นที่ชายฝั่งของเทศมณฑลซูเหวิน ในเมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เที่ยวบินและการขนส่งบางส่วนหยุดชะงัก จากนั้นพายุมู่หลานก็อ่อนกำลังลงในพายุดีเปรสชันเขตร้อนขณะที่เคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม
ใน สปป. ลาวเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยฝนที่ตกหนักหลายวันส่งผลให้แม่น้ำเอ่อล้นและท่วมบ้านเรือน ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยหลายพันคนในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะใน 4 แขวง คือ ไซยะบุรี หัวพัน หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ซึ่งอย่างน้อย 10 อำเภอได้รับผลกระทบ
ในบางพื้นที่ น้ำท่วมถนน น้ำและไฟฟ้าถูกตัดขาด จากข้อมูลของกระทรวงข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของลาว
ในไซยะบุรี เจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว หลังจากที่แม่น้ำเหืองล้นตลิ่ง หมู่บ้านริมแม่น้ำและบ้านเรือนบางส่วนจมน้ำ กว่า 10 หมู่บ้านใน 5 อำเภอของจังหวัดได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ต้องเรียกตัวทหารประมาณ 600 นาย ไปช่วยงานบรรเทาทุกข์
ในแขวงเวียงจันทน์ แม่น้ำซองในเขตวังเวียงล้นตลิ่ง ท่วมชุมชนท้องถิ่นและรีสอร์ตตามจุดท่องเที่ยว สะพานบางแห่งได้รับความเสียหาย
ในจังหวัดที่ติดกับหัวพันและหลวงพระบาง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำลังเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ ซึ่งรวมถึงการเตรียมสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องอพยพหลบภัย
เวียดนาม ไทย เมียนมาพายุมู่หลานถล่ม
หน่วยงานจัดการภัยพิบัติเวียดนาม (VDMA) ระบุว่าพายุมู่หลานทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่ราววันที่ 9 สิงหาคมเป็นเวลา 3 วันจนถึงปลายวันที่ 12 สิงหาคม เมืองฮหว่าบิ่ญ บันทึกปริมาณน้ำฝนได้ 328 มิลลิเมตร
VDMA รายงานน้ำท่วมและดินถล่มในจังหวัด ลายเจิว และ เสิ่น ลา วันที่ 11 สิงหาคม และจังหวัดฮหว่าบิ่ญ, หล่าวกาย, เอียนบ๊าย,
เตวียนกวาง และ ฟู้เถาะ ในวันถัดมา มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 รายใน ฮหว่าบิ่ญ และ 1 รายในฟู้เถาะ ขณะที่มีผู้สูญหาย 4 ราย (2 รายใน ฮหว่าบิ่ญ, 1 รายใน เตวียนกวาง และ 1 รายใน หล่าวกาย) บ้านเรือนประมาณ 130 หลังได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฮหว่าบิ่ญ นอกจากนี้ข้าวและพืชผล 1,233 เฮกตาร์ได้รับความเสียหายเช่นกัน
ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กปปส.) พายุโซนร้อนมู่หลาน ส่งผลกระทบต่อ 11 จังหวัด (เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก นครพนม เลย และปราจีนบุรี) จาก ประมาณวันที่ 11 สิงหาคม เปิดเผยว่า ครัวเรือนได้รับผลกระทบทั้งหมด 5,965 ครัวเรือน
น้ำท่วมหนักสุดเกิดขึ้นที่ตำบลแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเขื่อนดินในเมียนมาแตกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และน้ำท่วมพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะท่าขี้เหล็กใน รัฐฉานทางตะวันออกของเมียนมา มีผู้เสียชีวิต 1 รายในจังหวัดเชียงรายของไทย