โอกาสในวิกฤต ชีวิตต้องรอด ของธุรกิจ SME อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน กับมุมคิดแบบ “จุไรรัตน์ รามจาตุ” หญิงแกร่งแห่ง อารีฟู้ดส์

“ถ้าล้มแล้วไม่ลุก ไม่ใช่แค่เราที่เดือดร้อน แต่พนักงานอีก 80 ชีวิต ที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา จะต้องเดือดร้อนไปด้วย!”

“จุไรรัตน์ รามจาตุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ทำอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งทั้งคาว หวาน ส่งให้กับครัวร้อนในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง บอกเล่าเรื่องราว เมื่อวันที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก ส่งผลรุนแรงต่อธุรกิจของเธอ

“ปกติแล้วธุรกิจของเราจะสร้างรายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปีจากรายได้หลักคือ อาหารแช่แข็งพร้อมอุ่นขายที่เราซัพพลายให้กับครัวร้อนของซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ แต่เมื่อปีที่แล้วมีโควิด-19 พฤติกรรมคนเปลี่ยน กับข้าวหรืออาหารแบบตักร้อนถาดรวมใหญ่ขายไม่ค่อยได้ รายได้ลดลงมาก ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ลดลงเลย ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า ต้องตั้งสติ ต้องสู้ ไม่สู้ไม่ได้ เพราะถ้าเราล้มแล้วไม่ยอมลุกขึ้นเดินต่อ ไม่ใช่แค่เราที่เดือดร้อน แต่พนักงานอีก 80 ชีวิตที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา จะต้องเดือดร้อนไปด้วย …”

เมื่อดึงสติกลับมาได้ เธอทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจรอด มีเงินจ่ายเงินดือนพนักงาน ทรัพย์สินอะไรที่จะช่วยหนุนสภาพคล่องได้ เธอเอามาใช้ต่อลมหายใจเกือบหมดหน้าตัก รวมถึง ปรับมุมคิดวางแผนสู้ต่อ…

“แม็คโคร แนะนำให้เราผลิตสินค้าประเภท RTE หรือ Ready to Eat อาหารพร้อมรับประทาน รองรับกับพฤติกรรมผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคที่ลดความนิยมอาหารปรุงสุกในครัวอุ่นร้อนของห้างฯ หันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้น จากเหตุผลด้านความปลอดภัย ความสะดวก และอายุของอาหารที่เก็บได้นานกว่า เรามองเห็นโอกาสนั้นเพราะธุรกิจเราได้รับผลกระทบเต็มๆ จึงเริ่มต้นผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ 8 รายการให้กับแม็คโคร เมื่อกลางปี 2563”

สำหรับสินค้าอาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานของอารีย์ฟู้ดส์ ที่ผลิตภายใต้เฮ้าส์แบรนด์ของแม็คโคร ประกอบด้วย แกงเหลือง, แกงไตปลา, คั่วกลิ้ง, สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าแฮม, สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศหมู, สปาเก็ตตี้ขี้เมาหมู, ข้าวซอย, แกงฮังเล และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดตัว แบรนด์ “เฮง เฮง เฮง” ที่เป็นสินค้าช่วงตรุษจีน (ไก่ไทยต้ม, เป็ดพะโล้, หมูสามชั้นพะโล้, ปลากระพงทองนึ่ง) ซึ่งเน้นผลิตในขนาดที่ผู้ประกอบการต้องการ พร้อมนำไปอุ่นขายต่อถ้วยได้ทันที

หลังปรับตัวสู้อย่างสุดกำลัง สินค้าได้รับการตอบรับดี ธุรกิจ “อารีย์ฟู้ดส์” เริ่มหายใจคล่องขึ้น เครื่องจักร 6 ไลน์ผลิตในโรงงาน กลับมาคึกคักเปิดรับคำสั่งซื้อที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พนักงานทุกชีวิตก็ไม่ย่อท้อ ขอร่วมแรงใจสู้วิกฤตไปพร้อมกัน

“การที่ SMEs รายเล็กๆ จะเข้าโมเดิร์นเทรดได้นั้นไม่ง่าย เรามีสิ่งที่จะสู้ได้คือ คุณภาพและราคา ที่สำคัญต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เขาสั่งเราผลิตให้ได้”

จุไรรัตน์ แบ่งปันเคล็ด(ไม่) ลับทำธุรกิจให้อยู่รอด ด้วย หลัก 3 รู้ นั่นคือ 1. รู้ความต้องการว่าลูกค้า โดยใช้ข้อดีของ SMEs คือความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย ให้เป็นประโยชน์ 2. รู้เทรนด์ตลาดของกลุ่มธุรกิจอาหาร ยิ่งรู้ล่วงหน้ายิ่งดี เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ และ 3. รู้ราคาสินค้าในตลาด โดยเฉพาะ “ตลาดนัด” ที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป เพราะหากขายแพง ผู้ประกอบการนำไปขายต่อขายไม่ได้ สินค้าก็จะไม่ถูกเลือก

“การทำธุรกิจ ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ ไม่ใช่ว่ามีผลิตภัณฑ์เท่านี้จะมีเท่านี้ตลอดไป อย่าลืมว่าธุรกิจอาหารคู่แข่งเยอะมาก หากไม่พัฒนา สักวันคู่แข่งจะมาแย่งพื้นที่เรา อีกทั้งต้องมองช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ หมั่นเพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก”

ทุกวันนี้ “อารีย์ฟู้ดส์” มีรายได้เพิ่มขึ้น ยืนหยัดได้แม้วันที่โควิด-19 ส่งผลกระทบระลอกใหม่ พนักงานกว่า 80 ชีวิตยังคงมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งหากคิดรายได้ทั้งหมดในตอนนี้ของอารีย์ฟู้ด เธอว่า… กว่า 60% มาจาก แม็คโคร เพื่อนคู่คิดธุรกิจรายย่อย ที่ทำให้เธอลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง!

รายงานโดยทีมสื่อสารองค์กรแม็คโคร