แผนธุรกิจในปี 2565 ของ “แม็คโคร” (Makro) เชนค้าส่งยักษ์ใหญ่ในไทยภายใต้เครือซีพี ได้วางงบลงทุนไว้ที่ 11,000 ล้านบาท ใช้สำหรับ 2 ส่วนหลักๆคือ
– การขยายสาขา ทั้งในไทย และต่างประเทศคือ อินเดีย และกัมพูชา โดยในไทย เน้นเปิดโมเดลขนาดเล็ก “Makro Food Service”
– แพลตฟอร์มใหม่ “maknet” B2B Marketplace หรือตลาดค้าส่งออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งแม็คโครมองว่าจะเป็น New S-curve ผลักดันยอดขาย Omni-channel ให้เติบโตมากขึ้น
3 เหตุผลทำไม “แม็คโคร” ลงทุนพัฒนาแอปฯ “maknet”
ก่อนหน้าที่แม็คโคร จะเปิดตัว “maknet” ล่าสุดนี้ มีแพลตฟอร์ม “MakroClick” ที่เปิดตัวเมื่อปี 2562 ซึ่งเปรียบเสมือนการยกห้างแม็คโครมาไว้บนออนไลน์ ทั้ง website และ Mobile Application
แต่จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้า B2B ที่ต้องการสินค้าและบริการในการประกอบธุรกิจครบจบในที่เดียว รวมทั้งความสะดวกสบายและประสิทธิภาพในการสั่งสินค้า จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอีกหนึ่งแพลตฟอร์ม คือ “maknet” เป็น B2B Marketplace หรือตลาดค้าส่งออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ ภายใต้กลยุทธ์ End to End Solution ตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าร้านอาหารแบบครบวงจร ทั้งสิ้นค้าและบริการ
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว “MakroClick” กับ “maknet” ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?!?
– “MakroClick” เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังเล็กที่จำหน่ายสินค้าเหมือนกับที่แม็คโคร Physical Store ขาย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด – อาหารแห้ง และลูกค้าที่มาซื้อบนแพลตฟอร์มนี้ จะเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้านั้นๆ เป็นประจำ
– “maknet” เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังใหญ่ โดยเป็น “ตลาดค้าส่งออนไลน์” หรือ “B2B Online Marketplace” ครบวงจรสำหรับ B2B มีสินค้าครอบคลุมกว่า 100,000 รายการ โดยเฉพาะการเพิ่มสินค้าที่ไม่มีขายในแม็คโคร และมีผู้ผลิต/ซัพพลายเออร์หลากหลาย
ดังนั้นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “แม็คโคร” ตัดสินใจเปิดตัวแพลตฟอร์ม “maknet” นั่นเพราะ
1. ปิดข้อจำกัดพื้นที่สโตร์ เนื่องจากการเปิดสาขาที่เป็น Physical Store มีข้อจำกัดด้านพื้นที่การวางสินค้า ซึ่งในอดีต การจะเพิ่มยอดขาย ต้องใช้วิธีขยายสาขา หรือขยายพื้นที่ในสโตร์ แต่เมื่อมีแพลตฟอร์ม “maknet” ทำให้ทลายข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้แม็คโครสามารถนำสินค้าหลากหลายหมวดหมู่มาจำหน่ายได้
2. เพิ่มโอกาสได้ซัพพลายเออร์หลากหลายรูปแบบเข้ามา และขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสให้กับทั้งผู้ซื้อ ได้ซื้อสินค้าครบในแอปฯ เดียว และเป็นโอกาสของผู้ขาย หรือซัพพลายเออร์ด้วยเช่นกัน ในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายในแพลตฟอร์มนี้ เพื่อขยายฐานลูกค้ามากขึ้น เมื่อมีซัพพลายเออร์มากขึ้น ก็ทำให้สินค้าที่ขายบน “maknet” มีความหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่ม Non-food ที่แม็คโครไม่ได้มีวางจำหน่าย
ปัจจุบัน “maknet” มีร้านค้าที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์มแล้วประมาณ 1,000 ราย และตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ (ปี 2567) จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ราย และจะมีฐานลูกค้ากว่า 500,000 ราย ขณะเดียวกันนอกจากฐานลูกค้าแม็คโครเดิมแล้ว เชื่อว่า maknet จะขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กับแม็คโคร
3. ต้องการให้ “maknet” เป็น New S-curve ผลักดันการเติบโตของยอดขายสินค้าผ่าน Omni-channel จากปัจจุบันมีสัดส่วน 12% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
“แม็คโคร ใช้กลยุทธ์ 3 ขยายคือ ขยายฐานลูกค้า, ขยายฐานผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ และขยายรูปแบบการให้บริการ อย่างแพลตฟอร์ม maknet เราใช้เวลาพัฒนา 1 ปี โดยเราตั้งงบ maknet สำหรับในช่วง 4 ปีนี้เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท เริ่มใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว
maknet มาจาก Makro + Network คือ เครือข่ายของแม็คโคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อผู้ขายจะเข้ามาอยู่ใน Network เดียวกันนี้ จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทั้งฐานลูกค้า และฐานผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์ใหญ่ขึ้น โดยเปิดพื้นที่ให้กับผู้ผลิตสินค้า ทั้งรายใหญ่ และ SME ได้เข้าถึงช่องทางจำหน่ายและลูกค้าที่หลากหลาย
เป้าหมายของเรา คือ การพัฒนา ‘maknet’ ให้ก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม B2B online Marketplace อันดับ 1 ของไทย ด้วยจุดเด่นคือความครบจบในที่เดียว และนอกจากทำตลาดในไทยแล้ว เราจะขยายแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ต่างประเทศด้วย ในประเทศที่แม็คโครเข้าไปดำเนินธุรกิจ เช่น กัมพูชา เราพบว่าลูกค้ากัมพูชาชอบสินค้าไทย ต่อไปสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่าน maknet ได้เช่นกัน” คุณสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร เล่าถึงการพัฒนา maknet
ลุยขยายสาขาขนาดเล็ก “Makro Food Service” ในไทย – เปิดสาขาใหม่ในอินเดีย และกัมพูชา
ปัจจุบันแม็คโครมีสาขาในไทย 144 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา (ข้อมูล ณ มีนาคม 2565) โดยในช่วงหลายปีมานี้ Store Format ที่แม็คโครเน้นขยายในไทย คือ “Marko Food Service” ซึ่งเป็นโมเดลเล็กขนาด 1,000 – 2,000 กว่าตารางเมตร อย่างในปีนี้ เริ่มต้นปีมา เปิดแล้ว 4 สาขาคือ สุขุมวิท 22, ลำลูกกา ปทุมธานี, ถนนจันทน์ และ แพรกษา สมุทรปราการ
สาเหตุที่แม็คโครโฟกัสการขยาย Makro Food Service เนื่องจาก
1. เข้าถึงย่านชุมชน และผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยได้ง่ายกว่า
2. หาโลเคชั่นได้ง่ายกว่าการเปิดสโตร์ขนาดใหญ่ และมีความคล่องตัวในการขยายสาขาใหม่
3. ใช้เงินลงทุนไม่มากเมื่อเทียบกับสโตร์ใหญ่
สำหรับในปี 2565 “แม็คโคร” ตั้งเป้าเปิด 35 สาขา ในไทย 30 สาขา โดยในไทยเน้นเปิด Makro Food Service เป็นหลัก ขณะที่ตลาดต่างประเทศ เปิด 5 สาขา แบ่งเป็นอินเดีย 3 สาขา และกัมพูชา เปิด 2 สาขา
“เราเริ่มทำ Digitalization เพื่อผลักดันเข้าสู่ยุค “แม็คโคร 4.0” มาตั้งแต่ปี 2561 จากนั้นในปี 2562 เปิดตัว MakroClick เริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัล และในปีที่แล้วเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์ม maknet
บางคนอาจจะมองว่าเราช้าหรือเปล่า แต่เรามี Direction ชัดเจนที่จะเข้าสู่ดิจิทัล ต้องเตรียมความให้พร้อม คนของเราต้อง Upskill – Reskill และกลุ่มลูกค้าเราคือ B2B เป็นหลัก ไม่ใช่ทุกคนจะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เราปรับไปพร้อมๆ กันกับลูกค้าของเราด้วย ซึ่งเรามั่นใจว่า “maknet” จะเป็นจิ๊กซอว์ที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของแม็คโครและผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลายในอนาคต” คุณสุชาดา สรุปทิ้งท้ายของการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของแม็คโคร
ที่มา แม็คโคร