- Metaverse หนึ่งในเทรนด์การทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ (New retail) ที่ช่วยสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ยิ่งมีการแพร่ระบาดโควิด -19 กิจกรรมบนโลกออนไลน์ยิ่งสำคัญมากขึ้น หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลกปรับกลยุทธ์เข้าสู่ Metaverse มากขึ้น
- สำหรับประเทศไทย การทำธุรกิจค้าปลีกบน Metaverse ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และขับเคลื่อนโดยผู้เล่นรายใหญ่เป็นหลักแต่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบต่างๆ และการยอมรับจากผู้บริโภค
- แนวโน้มการหดตัวของประชากรไทยในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า อาจส่งผลต่อปริมาณการบริโภคและการใช้จ่ายในภาคค้าปลีก การทำธุรกิจค้าปลีกบน Metaverse อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่อาจเป็นการดึงส่วนแบ่งรายได้มาจากช่องทางอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องชั่งน้ำหนักถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ต้องมองให้กว้างกว่าตลาดในประเทศ แต่ยังมีความท้าทายทั้งในเรื่องการแข่งขัน พฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคต
Metaverse ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ควรศึกษา
Metaverse เทรนด์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่ช่วยสร้างความแตกต่างและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงและไม่แตกต่างกัน การซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-commerce) ซึ่งได้รับความนิยมตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด และมีทิศทางการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะถัดไป
แนวคิดโลก Metaverse ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะเป็นหนึ่งในช่องทางธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาพัฒนาการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ (New retail) ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค เช่น การลองเสื้อผ้าเสมือนจริง (Virtual Fitting) การออกแบบ/ตกแต่งบ้านผ่านการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) รวมถึงการจัดงานแฟชั่นโชว์ผ่าน Virtual Fashion show เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่สามารถเข้าสู่โลก Metaverse ได้ก่อน อาจมีความได้เปรียบในการแข่งขันและสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค (First-mover advantage) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ทันสมัยของแบรนด์ ยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หลายรายเริ่มมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าสู่โลก Metaverse ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯที่ เริ่มยื่นขอเครื่องหมายทางการค้าเพื่อขายสินค้าเสมือนจริง (Virtual Good) ตลอดจนมีแผนจะออกสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และอาจจะเปิดการซื้อขาย NFTs (Non-Fungible Token) ในอนาคต เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในเกาหลีใต้โดยเฉพาะในส่วนของ Home Shopping และ Duty Free มีแผนจะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายสินค้าบนโลก Metaverse ภายในช่วง 1-2 ปีนี้ (2565-2566) รวมถึงแบรนด์สินค้าแฟชั่นต่างๆ ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายแบรนด์เนม แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ได้เริ่มมีการเปิดขายสินค้าเสมือนจริงและ NFTs เมื่อปีก่อน ตลอดจนมีการร่วมมือกับบริษัทเกมส์ชื่อดังเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม Metaverse
ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น รายใหญ่ลองของก่อน SME อย่ามองข้าม
การทำธุรกิจค้าปลีกบน Metaverse ของไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น และน่าจะขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการค้าปลีก และการร่วมทุนกับผู้ผลิตแพลตฟอร์มรายใหญ่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในระยะแรกคือ กลุ่มห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน มีฐานข้อมูลและมีความใกล้ชิดกับลูกค้ามาอย่างยาวนาน ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยรูปแบบธุรกิจคาดว่าจะเป็นการร่วมลงทุน (Partnership) กับธุรกิจนอกภาคค้าปลีก โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ หรือผู้ผลิตแพลตฟอร์ม/แอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของไทยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในการสร้าง Digital Community เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลก Metaverse
ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยหรือ SMEs การเข้าสู่โลก Metaverse ในช่วงแรกยังมีข้อจำกัดทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี รวมถึงพนักงานหรือบุคลากร แต่ในระยะยาวคาดว่า ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวอาจอาศัยแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์หรือช่องทาง E-commerce ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเป็นตัวกลางในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลก Metaverse ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่กลุ่มผู้ประกอบการรายกลางถึงย่อยไปบ้างแล้ว
ความสำเร็จในการทำธุรกิจค้าปลีกบนโลก Metaverse ในไทย ยังต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทรัพยากร และการตอบรับของผู้บริโภค
ปัจจัยอีกมากในการกระตุ้นให้ตลาดเกิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทำธุรกิจค้าปลีกบนโลก Metaverse ในไทยยังคงมีความท้าทายหลายประเด็น
- เรื่องของแนวคิดของโลก Metaverse ที่ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและต่อยอด
- ความพร้อมของเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อสู่โลก Metaverse ซึ่งในปัจจุบันมีราคาสูงและยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย
- ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
- การขาดแคลนองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ Metaverse อีกจำนวนมาก
- ความท้าทายในเรื่องการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ สำหรับใช้บนโลก Metaverse ทั้งในประเด็นของการแข่งขัน การทำธุรกรรมต่างๆ บนบล็อกเชน การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญ
ในต่างประเทศได้มีกรณีการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิในการผลิตและขาย NFTs เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการในประเทศยังคงมีความท้าทาย ขณะเดียวกัน การยอมรับและเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงคอนเทนต์และประสบการณ์ที่ได้รับจะต้องจูงใจมากพอที่จะทำให้ผู้บริโภคหันไปใช้เวลาบนโลก Metaverse มากกว่าโลกจริง
บทสรุป ยังต้องใช้เวลา แต่ไม่ควรมองข้าม
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ แนวโน้มการบริโภคหรือการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไทยในระยะข้างหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือเติบโตได้จำกัด จากอัตราการเกิดที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนประชากรไทยมีแนวโน้มจะหดตัวในอีกไม่ถึง 10 ปี ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งจะกดดันภาพรวมการบริโภคในภาคค้าปลีกต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การสร้างรายได้ในช่องทางค้าปลีกใหม่ๆ อย่าง Metaverse อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการดึงส่วนแบ่งรายได้มาจากช่องทางอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะนำ Metaverse มาใช้ในธุรกิจค้าปลีก อาจจะต้องชั่งน้ำหนักถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ท่ามกลางการเผชิญการแข่งขันในภาคค้าปลีกที่รุนแรงขึ้น เพื่อแย่งชิงฐานลูกค้าที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือมีจำกัด โดยหากการลงทุนใดๆ ผู้ประกอบการคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมองให้กว้างกว่าตลาดในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดในต่างประเทศแม้ว่าจะมีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ อีกทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้งผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ และผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงยังต้องศึกษากฎหมายหรือข้อบังคับในการทำธุรกิจค้าปลีกบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของแต่ละประเทศที่อาจมีความเข้มงวดแตกต่างกัน เช่น จีน มีการอำนวยความสะดวกในการทำ Cross-border E-commerce ในเขตทดลองพิเศษ (CBEC pilot zone) ให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ ทั้งในเรื่องการลดภาษีนำเข้า การเพิ่มจำนวนสินค้าที่อนุญาตให้มีการซื้อขาย และการขยายวงเงินการซื้อสินค้าของคนจีน ขณะที่ เวียดนาม มีการออกมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจ E-commerce จากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีการจัดตั้งธุรกิจในเวียดนาม
ทั้งนี้ กฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจค้าปลีก Metaverse ในแต่ละประเทศยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องติดตามรายละเอียดของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
Disclaimer
รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)