เปิดกลยุทธ์ MG ประจำปี 2565 รุ่นใหม่ต้องมา โรงงานใหม่ต้องมี ยอดขายต้องแซง Mitsubishi-Mazda

ในที่สุด MG แบรนด์รถยนต์จากจีนก็ทำตลาดในประเทศไทยครบ 8 ปี

ช่วงแรก MG อาจจับทางตลาดไม่ถูก และต้องบอกว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง

แต่ 2-3 ปีให้หลัง MG เริ่มรู้จุดแข็งของตัวเอง และเข้าใจความต้องการลูกค้าชาวไทยมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีคือ SUV ราคาคุ้มค่า และรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่ขายเป็นรายแรก ๆ

ล่าสุดยอดขาย MG ในประเทศไทยใกล้ขึ้นมาอยู่ Top 5 ของตลาด ไล่กินแบรนด์ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

แถมปี 2565 MG ตั้งเป้ายอดขาย 50,000 คัน ถ้าทำได้จริงก็แซงคู่แข่งญี่ปุ่นอีกหลายแบรนด์

แล้ว MG จะใช้กลยุทธ์อะไร ลงทุนแค่ไหน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว ถ้าอยากรู้ ติดตามได้ในบรรทัดถัดจากนี้

MG กับเป้าหมายยอดขาย 50,000 คัน

ปี 2564 MG ประกาศยอดขายที่ 31,005 คัน เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน แต่ น้อยกว่าเป้าหมาย 42,000 คันที่ตั้งไว้ เพราะเจอวิกฤตชิปขาดแคลน, การระบาดของโรค COVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้ซื้อรถใหม่

สถิติที่น่าสนใจคือ MG5 มียอดขายอันดับ 3 ในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก (B-Segment) ในเวลาแค่ 2 เดือนนับจากเปิดตัว ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าล้วน MG มีส่วนแบ่งในตลาดนี้มากกว่า 90%

ปี 2565 ทุกคนหวังว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ จะหายไป MG ก็เช่นกัน

MG มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3-4% ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรถยนต์เติบโตจากปีก่อนเล็กน้อย หรือมียอดขาย 8-8.5 แสนคัน และ MG ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 50,000 คัน มากเป็น 5 อันดับแรกของตลาดรถยนต์

แล้ว MG จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร?

จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า เบื้องต้นจะมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมลงทุนเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

ตัวรถยนต์รุ่นใหม่ MG ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะไม่พ้น SUV และรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

ฝั่งโรงงานใหม่ เดิมที MG มีโรงงานผลิตรถยนต์ และสามารถผลิตแบตเตอรี่ให้ MG HS PHEV ได้ แต่ถ้าจะลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจริง ๆ แค่ผลิตแบตเตอรี่ในดรงงานเดิมคงไม่พอ

ที่สำคัญการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ยังมาพร้อมกับการขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ซึ่ง จาง ไห่โป ย้ำว่า ภายในปี 2566 MG จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในประเทศไทย และใช้ชิ้นส่วนท้องถิ่นมากกว่าเกณฑ์ที่ BOI กำหนด

ยอดขายรถยนต์ 2564 เดือน พฤศจิกายน
ยอดขายรถยนต์ 2564 เดือน พฤศจิกายน

แซงหน้า Mazda และ Mitsubishi

แม้จะยังไม่มีรายละเอียดอะไรมากในแง่กลยุทธ์การทำตลาด แต่รถยนต์ที่ MG ขายอยู่ทั้งฝั่งเก๋งเล็กที่นำโดย MG5 ก็พึ่งเปิดตัวเดือน ก.ค. 2564 ส่วน SUV ทั้ง MG ZS และ HS ก็สามารถขายได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งทั้งตลาด

ทำให้ปี 2565 MG ยังเหลือโอกาสอีกมากในการทำตลาดรถยนต์ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งประกอบกับรุ่นใหม่ที่เตรียมเปิดตัว ก็ไม่แปลกที่ จาง ไห่โป จะตั้งเป้าหมายสุดท้าทายไว้ถึง 50,000 คัน

ถ้าถามว่า 50,000 คัน นี่สามารถแซงคู่แข่งแบรนด์ไหนบ้าง

อ้างอิงข้อมูลรายงานยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยสิ้นเดือน พ.ย. 2564 จาก Toyota พบว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2564 MG มียอดขาย 27,240 คัน มากกว่า Subaru, Suzuki และ Nissan

แต่ยังน้อยกว่า Toyota, Isuzu และ Honda 3 แบรนด์ญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ในตลาด รวมถึง Mazda กับ Mitsubishi ที่มียอดขายแข็งแกร่ง และ Ford แบรนด์รถยนต์จากสหรัฐอเมริกาแบรนด์เดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้

หากทำได้ถึง 50,000 คันจริง MG จะมียอดขายแซง Mazda, Mitsubishi และ Ford ขึ้นไปยืนอยู่ Top 5 ได้โดยสมบูรณ์

จุดที่น่าสนใจคือการแซง Mazda และ Mitsubishi สองแบรนด์รถยนต์ที่ยึดตำแหน่ง Top 5 ไว้อย่างเหนียวแน่น โดย Mazda ชูความแตกต่างเป็นจุดขาย ถึงราคาสูงกว่าคู่แข่งก็มีคนซื้อ

ส่วน Mitsubishi ได้ Pajero Sports รถ PPV ดีไซน์โฉบเฉี่ยว และ Expander รถ Mini-MPV เบอร์ 1 ของตลาด ช่วยประคองยอดขาย

เมื่อ MG เอาเรื่องความคุ้มค่า บวกกับการออกแบบมาสู้ ก็ต้องวัดใจคนไทยว่า จะเลือกแบบไหน

จีน กับเป้าครองตลาดรถยนต์ในไทย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เป้าหมาย 50,000 คัน ค่อนข้างท้าทาย และคงไม่ได้มาง่าย ๆ ในสถานการณ์แบบนี้ แต่ MG คือหนึ่งในแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตในวิกฤตนี้

และ Great Wall Motor รถจีนอีกรายก็ค่อนข้างทำผลงานได้ดีกับรถยนต์ SUV รุ่นต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ที่แม้จะมีข่าวด้านลบออกมา แต่ก็ยังเป็นที่สนใจของตลาดอยู่

ส่วนตัวผู้เขียนจึงมองว่า ปี 2565 คือปีที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจะต้องจริงจังกว่านี้ ทั้งในแง่การออกแบบ และการทำตลาด เพราะหากไม่ทำอย่างนั้น โอกาสเพลี่ยงพล้ำให้กับ 2 แบรนด์จีนดังกล่าวก็คงเกิดขึ้นแน่ ๆ

ยิ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีรถยนต์แบรนด์จีนอื่น ๆ เข้ามาทำตลาดอีกหรือไม่ แบรนด์ญี่ปุ่นก็น่าจะต้องเตรียมตัวไว้ให้ดีคงดีกว่า

มิฉะนั้นหากเพลี่ยงพล้ำอีก โอกาสสูญเสียพื้นที่ในตลาดนี้ก็มีสูง

 

ที่มา MG