คณะนักวิจัยจากเอ็มไอที (MIT) เสนอการสร้างฟองอวกาศสำหรับติดตั้งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เพื่อลดความเข้มแสงลง หวังสู้ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใคร ๆ ต่างก็ตระหนักว่าส่งผลเสียร้ายแรงต่อมนุษย์และโลกของเราอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม มาตรการในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถชะลอปัญหาโลกร้อนได้ดีนัก คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จึงเสนอแนวคิดมาตรการฉุกเฉินขั้นสุดท้าย ด้วยการสร้างและติดตั้งอุปกรณ์หักเหและลดความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบมายังโลกในอวกาศ
เซนสิเบิล ซิตี้ แล็บ (Senseable City Lab: SCL) เป็นชื่อกลุ่มนักวิจัยแนวคิดสุดล้ำและแหวกแนวจาก MIT ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2004 พร้อมผลงานสุดแหวกแนวกว่า 39 โครงการ งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ ผังเมือง และสถาปัตยกรรมรวมกันมากกว่า 160 ชิ้นงาน มุ่งเป้าไปที่การจัดการเมือง สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
สเปซ บับเบิล (Space Bubbles) หรือฟองอวกาศ เป็นโครงการล่าสุดที่ทีมงาน SCL คิดค้นขึ้นมาเพื่อรับมือกับแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ด้วยแนวคิดการลดความเข้มแสงดวงอาทิตย์ที่จะพุ่งตกกระทบพื้นผิวโลก โดยจะสร้างวัสดุคล้ายฟอง (Bubbles) จำนวนมาก และเชื่อมต่อในลักษณะแพวงกลม โครงสร้างดังกล่าวจะทำหน้าที่หักเหแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนออกไป ทำให้แสงที่พุ่งมายังพื้นผิวโลกลดลง
ทีมวิจัยตั้งเป้าให้ฟองอวกาศติดตั้งในตำแหน่งที่มีชื่อว่าแอล 1 ลากร็องฌ์ (L1 Lagrangian Point) ซึ่งเป็นบริเวณตำแหน่งที่ปราศจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจากทั้งโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่าฟองอวกาศจะสามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ และลดความเข้มแสงลงไปได้อย่างน้อย 1.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงพอจะทำให้โลกเย็นลง
Space Bubbles ผ่านการทดสอบการทดลองเบื้องต้น (Preliminary Experiment) ในโลกแต่จำลองสภาพแวดล้อมให้เสมือนอยู่อวกาศชั้นนอกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โครงการสเปซ บับเบิล เป็นหนึ่งในความทะเยอทะยานแห่งยุคของการศึกษาในสาขาวิศวกรรมภูมิศาสตร์ (Geoengineering) ซึ่งคาร์โล รัตติ (Carlo Ratti) หนึ่งในผู้กำหนดทิศทางการวิจัยหลักของโครงการนี้มองว่า การพัฒนาองค์ความรู้สาขาวิศวกรรมภูมิศาสตร์ เป็นเพียงความหวังเดียวของโลก เปรียบเสมือนเป็นปราการด่านสุดท้ายในการรักษาให้โลกและระบบนิเวศโดยรวมเอาไว้ และเชื่อว่าโครงการนี้จะเสมือนการย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าที่ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงอย่างในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล Dezeen
ที่มารูปภาพ MIT Senseable City Lab