Date: 19/05/2020
Author: Orawan Marketeer
ธนินท์ เจียรวนนท์ สร้างคนให้คิดแบบเถ้าแก่ (บทสัมภาษณ์พิเศษ)
ทำไมช่วงนี้ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือซีพี จึงให้โอกาสสื่อมวลชนได้เข้าพบบ่อยครั้งขึ้น
เป็นคำถามหนึ่งของ Marketeer ที่ท่านตอบด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มว่า
“หากเปรียบประเทศไทยเป็นแม่น้ำ บริษัท เล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งซีพีเหมือนเรือที่ลอยอยู่ หากปล่อยให้น้ำลง ทุกคนก็ลงกันหมด ใช่ว่าจะรอดอยู่คนเดียวได้ ดังนั้น ต้องมองส่วนรวม ถ้ารู้ว่าอะไรน่าจะช่วยประเทศชาติได้ ต้องพูดออกมา การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยการมาพูดคุยมาแลกเปลี่ยนกัน และพวกคุณเองก็เป็นสื่อ ซึ่งสำคัญมากในการสื่อสารออกไปเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในประเทศนี้”
เรื่องราวระหว่างบรรทัดที่ถ่ายทอดวิธีคิดต่าง ๆ ของผู้นำองค์กรวัย 81 ปีผู้เต็มไปด้วยประสบการณ์ และไม่เคยหมดไฟในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากการได้สัมภาษณ์เกือบ 2 ชั่วโมงครั้งนี้ จึงน่าสนใจอย่างมาก
หลายคนคงไม่รู้ว่า ซีพี ซึ่งใหญ่และรวยมากในเมืองไทย มีรายได้ทั้งเครือเมื่อปี 2561 ประมาณ 2 ล้านล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศถึง 60% (40% มาจากประเทศจีน 20% มาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก) จากการเข้าไปลงทุนโรงงานในกว่า 22 ประเทศ และขายสินค้าไปกว่า 100 ประเทศ
มีพนักงานในไทยประมาณ 2.9 แสนคน พนักงานในต่างประเทศ 1.5 แสนคน
ตัวเลขเมื่อปี 2561 โรงงานผลิตของซีพีทั้งหมด มี 278 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บกสัตว์น้ำ 951 แห่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์สโตร์ 208 สาขา ศูนย์วิจัย/สถานีวิจัย 52 สาขา
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายประเทศในโลกกำลังเจอกับวิกฤตของอาหาร โรงงานเนื้อวัว-หมู-ไก่ หลายแห่งในสหรัฐฯ ยุโรป ต้องปิดลง เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากในโรงงาน
แต่โรงงานของซีพีไม่มีโรงงานใดถูกปิด ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ที่กำลังเดินเครื่องป้อนให้กับคนทั้งโลกอย่างต่อเนื่อง
โรงงานของซีพีไม่ถูกปิด คนไม่ลด เซเว่นฯ รับคนเพิ่ม
“มีคนไม่เข้าใจถามผมเสมอว่า ทำไมเราต้องมีตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารมนุษย์ (Feed-Farm-Food) ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สามารถตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน”
นั่นคือโรงงานของซีพียังผลิตอาหารได้ต่อเนื่องโดยไม่ถูกปิดโรงงานจากการระบาดของโควิด-19 ก็เพราะเราควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยได้ทุกขั้นตอนครบวงจร และยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมทั้งใช้ระบบอินทิเกรต คือเอาหลาย ๆ ขั้นตอนมารวมกันให้เหลือ 1 ขั้นตอน ลดขั้นตอนเพิ่มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การบริหารจัดการข้อมูลจึงมีความสำคัญมาก ในช่วงโควิด-19 เครือซีพีตั้งศูนย์ประสานงานโลจิสติกส์ 24 ชม. ไม่ใช่เฉพาะการขนส่งของบริษัท แต่ยังประสานงานกับซัปพลายเออร์ทั้งหมด เพื่อยกระดับความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่
ในอู่ฮั่น เพราะมาตรการคนปลอดภัย อาหารปลอดภัย ทำให้การผลิตอาหารให้คนของเขาต่อวันที่มีหมู 260,000 กิโลกรัม ไก่ 300,000 กิโลกรัม ไข่ 2.5 ล้านฟอง และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน 500,000 ชุด สามารถผลิตได้ตรงตามเป้าหมาย
กลายเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้จนถึงวันนี้โรงงานของเราทั่วโลกไม่มีคนงานติดเชื้อจนต้องปิดโรงงานเลย
ถ้าประชาชนไม่มีอาหารกินซึ่งเดือดร้อนแล้วนะ ออกมาประท้วงแย่งของแย่งอะไรกัน จี้ปล้นกันเพราะมันหิว สามวันไม่ได้กินคนก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นของเราทั้งฟาร์มทั้งทุกอย่างรัฐบาลให้ไฟเขียวหมด การส่งอาหารเขามีมาตรการ เขาเชื่อใจเรา แล้วเราก็ทำตามมาตรการ
“ที่เมืองจีนเราใช้คนน้อย เขาเข้าใจที่เราใช้หุ่นยนต์ เขามีแรงงานเหลือล้นนะ แต่ผมบอกคุณไม่ต้องห่วง เอาคนมาทำเรื่องขนส่งเอามาเป็นพนักงานขาย ทำไมต้องเป็นคนงาน แรงงานต้องปล่อยให้หุ่นยนต์ทำไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ต้องมีสวัสดิการ ต้นทุนเราก็ถูก แล้วเราก็จะได้ทำของดีราคาถูก”
ปีนี้ผมว่ารายได้ทั่วโลกเราเพิ่มขึ้นแต่ธุรกิจอย่างอื่นนี่พังนะ สมมุติว่าผมเป็นรัฐบาลผมจะออกตราสารหนี้ของรัฐบาลดอกเบี้ยถูก ๆ สามสิบปี อาจจะดอกเบี้ย 1% เอาเงินของทั่วโลก เพราะเครดิตเราดีอยู่แล้วก็มากู้ดอกเบี้ยถูก ๆ 30 ปีให้ อย่าไปให้ฟรีกู้ 30 ปีแล้วค่อยมาคืนผม ให้คุณอยู่รอดก่อน อย่าไปตกงาน อย่าไปไล่คนงานออก คุณจ่าย 60 -70 เปอร์เซ็นต์แล้วกัน ถ้าอังกฤษพวกเจ้าหน้าที่โรงแรม รัฐบาลอังกฤษจนกว่ารัฐบาลประเทศเรานะ ค่าใช้จ่ายเขามากมายเหลือเกินเขายังให้ 80 เปอร์เซ็นต์
ของเรานอกจากไม่ลดคน เซเว่นอีเลฟเว่นยังประกาศรับ 20,000 คน เพื่อไปส่งของถึงบ้านฟรี
“เมื่อก่อนผู้นำเซเว่นฯ ไม่ค่อยเชื่อผม บอกว่าแบบนี้ดีอยู่แล้ว แต่ผมว่าร้านเซเว่นฯ บอกว่าสะดวกซื้อ แต่คนยังต้องเดินมาซื้อสะดวกที่ไหน ถ้าคุณส่งถึงบ้านสิสะดวก ไม่ต้องคิดเงิน ยอดขายเพิ่มมากขึ้นแน่นอน”
โลกไม่มีวันขาดแคลนเรื่องอาหารแน่นอนไม่ว่าวิกฤตจะเกิดกี่ครั้ง
การขาดแคลนอาหารในช่วงวิกฤตเป็นแค่ปัญหาระยะสั้น คนมักเข้าใจว่าโรคระบาดเกิดขึ้น 5 ปีครั้ง 10 ปีครั้ง คนเกิดเพิ่มขึ้นทุกปี โลกจะขาดแคลนอาหาร
ถ้าถามผมมีแต่เกิน ทำไมรู้ไหม เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างเช่นเมืองไทยถ้าต่อไปเราทำน้ำขายได้ ที่แห้งแล้งที่ปลูกไม่ได้ มันปลูกได้ ผมว่าผมกลัวเกินไม่ใช่ขาด ที่ขาดเพราะภาคประชาชนที่ยากจนแล้วรัฐบาลไม่เข้าใจ ไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูก ไม่มีใครไปแนะนำ
“โลกมันเปลี่ยนแปลงแน่นอน แล้วก็ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเจริญ ยิ่งเปลี่ยนประชาชนยิ่งมีความสุขมากขึ้น แต่ระหว่างเปลี่ยนบางคนอาจเจ็บหนัก ล้มหายตายจากไปบ้าง”
คิดดูสิตอนต้มยำกุ้งคนฆ่าตัวตายก็เยอะนะ พอหลังจากต้มยำกุ้งประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง แล้วจีนเที่ยวนี้เจอแบบนี้สู้กับทรัมป์ ทำให้จีนเปลี่ยนแปลงประเทศ เปิดประเทศมากขึ้น เร็วขึ้นอีก เพราะมนุษย์มันมีเพรสเชอร์ ผู้นำเก่ง ประชาชนเก่ง ยิ่งมีเพรสเชอร์สูง ยิ่งกดดันสูงก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ยิ่งทำให้ดีขึ้น
“คนเรานะครับ ถ้าอยู่กันแบบสบายๆ ก็ไม่เก่งขึ้นหรอก”
ซีพี เลือกร่วมงานกับคนเก่งทั่วโลก
ซีพีเป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 ดังนั้น หากพูดถึงโควิด-19 ซีพีก็ได้เรียนรู้บทเรียนและประสบการณ์จากกรณีอู่ฮั่น ในประเทศจีน ซึ่งได้ถ่ายทอดสู่ประเทศไทยในการรับมือกับการระบาดของไวรัส COVID-19 หากพูดถึงผลกระทบต่อประเทศจีน ต้องถือว่าไม่มาก และปรับตัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดส่งอาหารถึงบ้าน ที่มีการเชื่อมโยงชุมชนในการกระจายสินค้า และการดูแลด้านความปลอดภัยแบบครบวงจร ทำให้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และพนักงานทุกคนมีรถรับส่ง และมีที่พักภายในโรงงาน ทำให้มั่นใจได้ว่าจะผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง
ปลายปี 2559 ซีพีซื้อกิจการของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ในอเมริกา ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ตลาดอเมริกามีศักยภาพมาก จำนวนประชากรมากถึง 325 ล้านคน คิดเป็น 5% ของประชากรโลก และมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับยังมีมูลค่าธุรกิจอาหารมากกว่า 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดอาหารแช่แข็งและอาหารกินเล่นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีราว 19 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก
นอกจากนี้ อเมริกาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและรีเสิร์ชที่ซีพีต้องเรียนรู้ และนำมาใช้กับธุรกิจอีกมาก
“ในอเมริกามีซูเปอร์มาร์เก็ต พวกวอลมาร์ท คาลเท็กซ์ ประมาณ 7 หมื่นแห่ง เรามีเครือข่ายการขายข้าวกล่อง อาหารสำเร็จรูป 5 หมื่นแห่งในอเมริกา มีโรงงานอยู่ 2 แห่ง แล้วกำลังจะไปขยายโรงงานผลิตอาหาร เราใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์อัตโนมัติหมด เพราะมันผิดพลาดไม่ได้เลยสำคัญมาก”
ซีพีขยายตลาดในยุโรป ซื้อกิจการอาหารพร้อมรับประทาน “ท็อปส์ฟู้ดส์” ในเบลเยียม เพื่อขยายฐานการผลิตและกระจายสินค้าไปในยุโรป
ในอินเดียไปลงทุนมามากกว่า 20 ปี ล่าสุด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศลงทุนในธุรกิจค้าส่ง Cash & Carry ด้วยเงินลงทุน 10,000 ล้านรูปี ใน 5 ปีแรก
ซีพีเวียดนาม มีธุรกิจตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูป และจุดจำหน่าย ครอบคลุมทั้งในสัตว์บกและสัตว์น้ำ ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าซีพีเวียดนามยกโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรจากประเทศไทยไปดำเนินการ
ส่วนในรัสเซีย มีคนอยู่ประมาณ 140 ล้านคน ซีพีได้ขยายฐานซื้อบริษัทไก่ครบวงจรในประเทศรัสเซีย เมื่อรวมกับธุรกิจสุกรที่ซีพีได้ลงทุนอยู่แล้ว ก็จะมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตจากการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย
ขยายตลาดทั่วโลกตามวิถีของซีพี
การที่ซีพีสามารถไปปักธงการลงทุนได้ทั่วโลก เพราะธุรกิจหลักเป็นเรื่องของการเกษตร เป็นอาหาร และวันนี้เป็นเกษตรกรที่ทันสมัยด้วย เพราะเมื่อก่อนเราเป็นน้องเล็ก เราไม่เก่ง ประเทศไหนเก่งเราก็ไปเรียนรู้กับเขา เขาก็ยินดีที่จะสอนเรา ประเทศเก่งต่อเก่ง เขาไม่ได้สอนกันนะ ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในตองอู
“แต่เราไปแบบคนตัวเล็ก ๆ แล้ววัฒนธรรมไทยมันยอดเยี่ยมมาก คนไทยไปไหนไม่ถูกรังเกียจนะ ผมไปทุกประเทศเลยครับ แล้วเอาของดีที่สุดของเขามาประยุกต์แล้วก็มาทำ กลายเป็นเราเก่งกว่าเขาอีก บางทีเขาตกใจเหมือนกันนะ เอ๊ะ! ผมสอนคุณอย่างนี้ แล้วทำไมคุณทำได้เหนือกว่าผม แต่ผมไปเอาอีกประเทศหนึ่งที่เขาเก่งกว่าเขาใส่เข้าไป ได้ของดีที่สุดมา นี่คือความสำเร็จของซีพี”
แล้วซีพีไปลงทุนที่ไหนเราจะเอาธงชาติไทยไปปักทั้งที่หน้าโรงงานและออฟฟิศ ผมต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซีพีถ้าไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ซีพีก็ไม่ได้วันนี้หรอกครับ คุณพ่อผมธุรกิจที่เมืองจีนถูกยึดไปหมดแล้วล่ะ หมดตัวแล้ว
“เราไปอย่าวางตัวเป็นนาย ถ้าเขามีคนเก่งเรายกให้เขาทำ ในบริษัทเราจะมีคนเก่ง ๆ สักกี่คนที่จะไปทำงานต่างประเทศได้ คนเก่งบางคนก็ไม่ได้ชอบไปอยู่ต่างประเทศ”
ผมเองยังไม่อยากอยู่ เวลาผมไปประเทศไหนผมต้องไปซื้อบ้านด้วย ไม่ชอบอยู่โรงแรม แล้วพอธุรกิจเสร็จผมไม่ต้องไปบ่อยก็ขายเลยอย่างนี้ ผมจะใช้วิธีนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนผมไปอยู่แล้วประทับใจเลย
“เวลาไปเราต้องไปแบบถ่อมตัว ตำแหน่ง CEO อะไรก็ให้เขาไป เพราะเขารู้ดีกว่าเรา แต่เรื่องการเงินเราต้องดูแลเอง ส่งคนไทยเข้าไป คนในพื้นที่มีคนที่เหมาะสมดีเราก็สร้างเขาขึ้นมา ก็ใช้วิธีนี้แหละครับ”
แนะสร้างประเทศด้วยการดึงคนเก่งเข้าประเทศ
ลองคิดดูสิถ้าคนไทยร่วมมือกับประเทศไหน ดึงคนเก่งด้านที่เราขาดอยู่ของประเทศนั้นๆ มาทำงานที่เมืองไทย อย่างเช่นพวกเทคโนโลยีต่าง ๆ พวกที่คนไทยเรายังไม่เก่งเรายังไม่พร้อม ถ้าดึงมาได้ห้าล้านคน มาสร้างเศรษฐกิจให้เรา มาใช้ชีวิตในเมืองไทย รายจ่ายของเขากลายเป็น 50 ล้านคน สิบเท่าของคนมาท่องเที่ยว ถ้าเอาครอบครัวมาด้วยมาจ้างงานเราอีกด้วย มาเสียภาษีให้เราอีกด้วย
สิงคโปร์พวกคุณรู้ไหม 6 ล้านคน คนสิงคโปร์ จริง ๆ 4 ล้านคน ที่เหลือเป็นคนต่างประเทศที่ สิงคโปร์ให้มาทำงาน ให้เป็นคนสิงคโปร์เลย เรา 70 ล้านคน เอามา 5 ล้านคนเป็นไรไปครับ ขนาดสิงคโปร์เขาเก่งอยู่แล้วเขายังต้องเอามาตั้ง 2 ล้านคนที่เก่งกว่า เพราะสร้างเองไม่ทันแล้ว ญี่ปุ่นก็เริ่มแล้วนะ
พวกคุณอาจจะไม่รู้ ญี่ปุ่นเงียบๆ แล้วเจาะจงถ้าคนที่ไปจากเซี่ยงไฮ้ญี่ปุ่นให้กรีนการ์ดทันที เพราะญี่ปุ่นวันนี้คนเกิดน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนสูงอายุ แต่เขาไม่กลัว เขาเอาคนเก่งในโลกนี้มาใช้ ต่อไปญี่ปุ่นจะยิ่งเก่งแบบไฮบริด
“เรื่องนี้ถ้าคิดแบบคนเห็นแก่ตัวผมต่อต้านสิ เพราะเขามาสู้กับผม ผมต้องกระเทือนก่อน แต่ไม่กลัวครับ เพราะถ้าเราสู้ไม่ได้ต้องโทษตัวเราเอง เราก็ต้องเรียนรู้ จ้างคนเก่งๆ มาสู้กับเขาสิ เขาเก่งมาเราก็ต้องไปหาคนเก่งมาร่วมทุน มาช่วยเรา ต้องคิดบวกครับ”
คนของซีพีทุกคนต้องทำเงินเป็น ทุกคนต้องคิดแบบเถ้าแก่
“ผมบอกว่าคนของซีพีทุกคนต้องทำเงินเป็น ทุกคนต้องคิดแบบเถ้าแก่ ทำแบบเถ้าแก่ แล้วก็ให้มีรายได้สูง คืออย่าไปนึกว่าจ้างถูก ๆ กำไรจากแรงงาน ถ้าซีพีคิดว่าเพราะเราไปจ้างแรงงานถูก ๆ แล้วเรากำไรจากแรงงานนั้น ก็คือเราคิดแบบเก่าแล้ว เป็นยุคสมัยทาสแล้ว เราต้องทำให้เงินเดือนเขาสูงแต่ทำให้ประสิทธิภาพเขาสูงด้วย”
ถ้าให้เขาทำงานตามเดิมแต่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เอาเครื่องทุ่นแรง เอาระบบทันสมัยมาช่วยเขา ทำให้เขามีผลงานสี่เท่าเราจ่ายเขาสามเท่าเป็นไรไป ต้องคิดอย่างบวก คนส่วนใหญ่จะคิดว่าค่าใช้จ่ายสูงอยู่ไม่ได้แล้ว เราต้องลดคนแล้ว สุดท้ายลดไปลดมางูกินหาง
“คนไม่เข้าใจ คิดว่าการอยู่รอด ต้องปลดคน เซฟค่าแรงงานคน นี่ผิดแล้ว นี่ถอยหลังเข้าคลองแล้ว ผมไม่ ผมต้องคิดว่าทำยังไงให้เงินพนักงานเขามากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง คนต้องเก่งงานมากขึ้น รายได้ต้องมากขึ้นเหนื่อยต้องน้อยลง”
ไม่ใช่ว่าเอาแรงงานเขา เอาเวลาเขา คนเก่งไม่เอาหรอกครับ มีโอกาสเขาลาออกแน่นอน เราเหลือแต่คนไม่เก่ง แล้วสุดท้ายเงินเดือนต่ำก็ไม่มีประโยชน์ เขาไม่ได้ทำเงินให้บริษัท เรายังต้องแถมเงินให้เขาอีก คิดให้เป็น ซีพีต้องไม่กลัวเงินเดือนสูง แต่กลัวประสิทธิภาพต่ำ
รถไฟความเร็วสูง สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ
ตอนนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลต้องเวนคืนที่ดินให้ผมได้ทั้งหมดเต็มร้อยนะครับ ถ้าเวนคืนไม่ได้ แล้วจะมาว่าติดขัดที่ผมไม่ได้ ผมนี่เงินก็ลงไปทุกวันเหมือนกับโควิด-19 ที่แต่ละวันรัฐบาลเสียหายเป็นหมื่นกว่าล้าน 30 วัน ห้าแสนล้าน
“ถ้าสมมุติรถไฟผมสร้างไป 99 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 1 กิโล ผมเปิดรถไม่ได้ อย่างนี้ผมไม่ล้มทั้งยืนหรือ”
ผมเชื่อมั่นว่าถ้าทำได้สำเร็จ วันหนึ่งคนใช้อย่างน้อยเป็นแสนคน แล้วผมจะทำให้เป็นที่ท่องเที่ยวทันสมัยขึ้น แล้วคิดดูคนกรุงเทพ คนทั่วประเทศไทย คนต่างประเทศ ไม่เคยนั่งรถไฟความเร็วสูง มันเร็วมากนะ เพียงแต่มันไม่มีปีก เลยไม่ได้บิน ก็อยากจะไปนั่งดูสิ ไปเที่ยวพัทยา ไปศรีราชาก็ไปนั่งดูสิ ไปห้าหมื่นคนกลับห้าหมื่นคน ซีพีทำได้แน่นอน
ผู้นำที่มีไฟตลอดเวลา
“ผมไม่ชอบทำอะไรที่มีคนเป็นพระเอกอยู่แล้ว เรามาสู้กันอาจจะตายทั้งคู่นะ หรือไม่ตายคนหนึ่ง เข้าไอซียูคนหนึ่ง หรืออาจจะทั้งคู่ไปเข้าไอซียู ผมมีคน แล้วผมมีกำลัง เลยเลือกธุรกิจตัวที่ไม่มีใครทำ ผมเลยง่ายหน่อย”
ผมเคยพูดกับทีมงานว่าถ้าเราไปเลือกทำในที่ไม่มีคู่ชกต่อย ต่อยสะดุดขานับสิบ เราก็ยังเป็นแชมป์ ถ้าเราไปต่อยกับคนที่เก่งอยู่แล้ว เขาอาจจะชนะ เพราะเขาชำนาญกว่าเรา เราเข้ามาใหม่ ต้องไปเรียนรู้เพื่อไปสู้กับคนที่รู้ดีอยู่แล้ว เปลืองเวลาทำไม เราต้องเลือกของที่มีอนาคต ผมไม่ชอบทำอะไรที่ไม่มีอนาคต แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ผมถึงจะทำ รวยยังไงถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผมก็ไม่ทำ เพราะผมมีที่เลือกเยอะแยะ ทำไมผมต้องไปทำด้วย
“แล้วคนเข้าใจผมผิด เพราะผมไปได้ทั่วโลก ทำไมต้องมาสู้กันในเมืองไทย ถ้าผมทำโรงพยาบาล ผมก็จะทำแบบใหม่ถ้าไม่ได้แบบใหม่ผมก็ไม่ทำ ผมจะทำให้หมอมีรายได้มากขึ้น สบายขึ้น แต่คนไข้จ่ายน้อยลง” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าว
สบายด้วยไม่ต้องไปรอคิวในโรงพยาบาลต่อไปอุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ เอกซเรย์เอย อะไรเอย เจาะเลือดเอย ตรวจเช็กเอย ถ้าจำเป็นแล้วค่อยนัดหมอ หมอก็ออนไลน์ในจอคุยกันเลย คุณมาทำไม มารอที่โรงพยาบาลทั้งวัน แล้วไปติดโรคเขามาอีก เดือดร้อนอีก ผมจะเปลี่ยน ถ้าผมทำไม่ได้ทำแบบเก่า
สุดท้าย เจ้าสัวธนินท์ยังได้บอกอีกว่าท่านชอบคุยกับคนรุ่นใหม่ ๆ ท่านบอกว่า