พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราชะลอตัว ในขณะที่ศักยภาพในการหารายได้ของประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงมองว่าเมื่อสถานการณ์ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบให้ประชาชนมีภาระผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนเพิ่มที่สูงขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลและกระทรวงการคลังจึงกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยที่ผ่านมาธนาคารของรัฐทุกแห่งได้ตรึงหรือลดอัตราดอกเบี้ย จัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น
- ธนาคารของรัฐได้คงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565
- ธนาคารของรัฐชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นหลายครั้ง
- นับจากเดือน ม.ค. 2567 ธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.15% ต่อปี
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีโครงการบ้าน ธอส. สุขสบาย เพื่อให้ลูกหนี้เดิมของ ธอส. สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงได้
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ SME Refinance เพื่อลดต้นทุนให้กับลูกหนี้
- ธนาคารของรัฐ มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้, ลดดอกเบี้ยฯ ให้กลุ่มลูกหนี้รายย่อยและ SME
“การรวมตัวของแบงก์รัฐเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญานไปถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้หันมาช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลดดอกเบี้ย การพักหนี้ การช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน เพิ่มสภาพคล่องมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ” พรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจ นอกจากการขับเคลื่อนมาตรการของภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการกึ่งการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคาดว่า GDP ไทยปี 2567 จะเติบโตที่ 2.8% โดยช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แม้ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่ลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ แต่โดยรวมเป็นการบ่งชี้ถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ
หมายเหตุ: ธนาคารของรัฐ ได้แก่
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
ที่มา กระทรวงการคลัง