กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เตรียมพร้อมกับนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หลังครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) ชูรถยนต์นั่งราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทมีสิทธิเงินอุดหนุนสูงสุด 100,000 บาท
หลังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (EV Board) มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ในช่วง 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในไทย ด้านกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน
ขณะที่ผลการดำเนินงานของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้าและผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 ที่ได้ทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมสรรพสามิต จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการ EV3 จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้าแต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566) ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,483 คัน โดยผลของมาตรการ EV3 ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท (ทั้งโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์แบบแบตเตอรี่, การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า)
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการ EV3.5 จะได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต โดยมีรายละเอียดดังนี้ ดังนี้
- รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1.1 สิทธิเงินอุดหนุน
1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kwh แต่ไม่เกิน 50 kwh
1.1) ปี 2567 – 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
1.2) ปี 2569 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
1.3) ปี 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน
2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป
2.1) ปี 2567 – 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
2.2) ปี 2569 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
2.3) ปี 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกิน 40% (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568)
1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ในปี 2567 – 2570 - รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
- รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 0% ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษี 2% ในปี 2569 – 2570
- รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kwh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิต เหลือ 1% ในปี 2567 – 2570
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
ที่มา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง