“ฝีดาษลิง” และ “โควิดโอมิครอน” แตกต่างกันอย่างไร

โรคฝีดาษลิง กำลังระบาดทั่วโลก หลายคนสงสัยว่าอาการของโรคฝีดาษลิงและการแพร่ระบาด มีความเหมือนหรือแตกต่างจากโควิดโอมิครอนอย่างไร และโรคฝีดาษลิงจะระบาดไปทั่วโลกหรือไม่ มาดูกันว่าความแรงของทั้ง 2 โรคนี้ต่างกันอย่างไรบ้าง

เปรียบเทียบอาการฝีดาษลิงกับโควิดโอมิครอน

อาการโรคฝีดาษลิง

  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • ไอ
  • ปวดหลัง
  • มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย
  • ผื่นกลายเป็นตุ่มหนอง

อาการของโรคฝีดาษลิงจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เอง แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กประมาณ 10%

อาการโควิดโอมิครอน

  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • มีไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • ได้กลิ่นลดลง

หากเทียบกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมาแล้ว อาการของโควิดโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่า ประกอบกับการที่ผู้คนจำนวนมากฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว จึงทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานมากขึ้น แม้ว่าจะติดเชื้อแต่ก็มีอาการไม่รุนแรงและรักษาตัวไม่กี่วันก็หายเป็นปกติ

วิธีการแพร่เชื้อของฝีดาษลิงกับโควิดโอมิครอน

สิ่งที่หลายคนกังวลเรื่องการระบาดของโรคฝีดาษลิงก็คือ จะสามารถติดต่อกันได้ง่ายเหมือนกับโควิดโอมิครอนหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้ย้ำเตือนเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลจนเกินไปว่า โรคฝีดาษลิงนั้นสามารถติดต่อจากคนสู่คนกันได้ยากกว่าโควิดโอมิครอน

การแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงแพร่จากสัตว์สู่คน

  • การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือด ผิวหนัง ของสัตว์ที่ป่วย
  • กินสัตว์ที่ป่วย
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อของสัตว์ที่ป่วย

ฝีดาษลิงแพร่จากคนสู่คน

  • ละอองฝอยทางการหายใจ
  • สัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง และตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสของใช้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟักตัวประมาณ 7-24 วันการแพร่เชื้อของโควิดโอมิครอน

การแพร่เชื้อของโควิดโอมิครอน

  • แพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินหายใจ หากผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูด
  • เชื้อโควิด-19 สามารถติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆ เช่น ราวบันได พื้นโต๊ะ หรือลูกบิดประตู หากไปสัมผัสพื้นผิวนั้นๆ แล้วนำมือมาจับตา จมูก หรือปาก ก็อาจติดเชื้อได้
  • ผู้ที่เคยเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19

วิธีป้องกันการติดโรคฝีดาษลิงและโควิดโอมิครอน

วิธีป้องกันการติดโรคฝีดาษลิง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิง และสัตว์ฟันแทะ
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์
  • ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงมีการแพร่ระบาด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง หรือสงสัยว่าติดเชื้อ กรณีที่สัมผัสเชื้อไปแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิน 14 วัน

ทั้งนี้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่จะต้องฉีดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเท่านั้น และยังสามารถรับวัคซีนได้ภายหลังจากการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

วิธีป้องกันการติดโควิดโอมิครอน

  • ใส่หน้ากาก
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  • เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น
  • เลี่ยงสถานที่แออัด
  • ไม่รับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม

แม้ว่าปัจจุบัน จะยังไม่พบการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่ก็ควรระมัดระวังและป้องกันตนเอง และไม่ตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลจนเกินไป หากต้องเดินทางไปประเทศสถานที่เสี่ยง อาจมีโอกาสติดเชื้อ และนำเชื้อกลับมายังประเทศไทยได้ อย่าลืมป้องกันตนเอง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด.

อ้างอิงข้อมูล: กรมการแพทย์, กรมควบคุมโรค