โลกกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าที่คิด และคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสที่จะร้อนที่สุดในประวัติการณ์ โดยจะสูงเกินทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใน 5 ปีนี้ ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป
ดังนั้น ส่งผลให้โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ ให้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนในระยะอันใกล้นี้ โดยยังมีกฎระเบียบ มาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ที่ในหลายประเด็นยังคงมีความคลุมเครือ ในขณะที่ภาคเอกชนจำนวนมากที่ยังไม่ปรับตัว จึงเป็นโจทย์แก่รัฐบาล ให้ต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองโจทย์สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ และวางรากฐานของประเทศ ดังนี้
- ภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมและความตื่นตัว เกี่ยวกับมาตรการและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม :
ผลสำรวจการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเพียง 25% เท่านั้นที่เริ่มมีการดำเนินการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของบริษัทแล้ว และในจำนวนดังกล่าว กว่าครึ่ง (55%) ยังไม่ได้ดำเนินการวัดและจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์จากการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนหนทางและการต้องลงมือและลงแรงอีกมากจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน
- ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมาย Net Zero ขั้นต่ำลงในระดับอุตสาหกรรมให้ชัดเจน :
จากการที่ไทยเคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 จำนวน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ดังที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพ.ย. 64 ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีแผน Road Map ให้ประเทศสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังคงมุ่งเน้นที่ภาคพลังงาน และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก
ดังนั้น เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ตามที่ให้คำมั่นไว้ หรือได้เร็วกว่าเดิมนั้น คงเป็นโจทย์ของรัฐบาลใหม่ ที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคพลังงาน แต่ยังคงต้องบูรณาการให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อย Emission ขั้นต่ำที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และมีการสร้างแผนงานที่ชัดเจน และร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชน
- ภาครัฐควรเร่งวางแนวทางขับเคลื่อนภาคธุรกิจ รับมือกับโจทย์ด้านนโยบาย/ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากต่างประเทศ :
ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีการดำเนินโครงการประเภท Decarbonization หรือ Clean Technology บ้างแล้ว เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผลจากแบบสอบถาม พบว่า มีระดับผลลัพธ์จากปรับเปลี่ยนเมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติประมาณ 10-30% (ข้อมูลจากผลสำรวจ) แต่ก็เป็นการดำเนินการเพื่อเป้าหมาย Carbon Neutral หรือ Net Zero policy ของภาคเอกชนไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) ที่ไม่มีข้อกำหนด หรือระเบียบจากภาครัฐมาบังคับปฏิบัติ ดังนั้น การสร้างความคืบหน้าในระดับประเทศจึงยังอยู่ในวงจำกัด
- ความน่ากังวล คือโจทย์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นตามลำดับ :
มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนต.ค. 66 และเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังรอภาพการสื่อสารถึงนโยบายจากภาครัฐ เพื่อมาดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรครอบคลุมถึงประเด็นว่าควรต้องดำเนินการเช่นไร ด้วยมาตรฐานใด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรายใหญ่ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตสามารถปรับตัวตามเกณฑ์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวให้ทัน และยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกไว้ได้
- ภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อจูงใจและชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อภาระทางการคลัง :
เนื่องจากในการมุ่งเน้นให้ภาคพลังงานหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ผ่านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จูงใจกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจส่งผ่านไปยังค่าไฟของประชาชน
จากผลสำรวจ พบว่า การดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการเป็นสิ่งแรกๆ โดย 64% ของผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน ตามด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าผลของการดำเนินการดังกล่าวมีผลในการเพิ่มต้นทุนในกรอบไม่เกิน 10% จากกรณีปกติ (45-55% ของผู้ตอบ) และในกรอบ 10-30% (18-27% ของผู้ตอบ) ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หากมีนโยบายสนับสนุนที่จูงใจมากพอ ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถเข้าถึงมาตรการของภาครัฐได้มากกว่าธุรกิจ SMEs สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจความคาดหวังต่อการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ที่ภาคเอกชนที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (96%) ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่จูงใจมากพอ
อาทิ กองทุนสนับสนุน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่มีการดำเนินการด้าน ESG ตามด้วยการบูรณาการหน่วยงานกำกับดูแลแบบรวมศูนย์ (69%) และเพิ่มการแข่งขันของบริการที่ปรึกษาในการวิเคราะห์และประเมินผลด้าน ESG หรือการบริการด้าน Carbon footprint verification เพื่อให้มีค่าบริการถูกลง (49%)
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการสนับสนุนที่ได้ดำเนินการออกมาแล้ว อาจต้องลดข้อกำหนดที่อาจไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs เช่น มาตรการยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของเงินลงทุน มาตรการลดภาษีสรรพสามิตและให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจเอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ต้องควบคู่ไปกับการพิจารณาให้แรงจูงใจผู้ประกอบการเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนการผลิต หรือการทำธุรกิจไปสู่มาตรฐานของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น เช่น อาจพิจารณาให้สิทธิการลดหย่อนทางภาษีในอัตราก้าวหน้าตามการลงทุนที่ธุรกิจทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในทุกระดับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
นอกจากนี้ อาจพิจารณาผลักดันนโยบายส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิตผ่านการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในตรวจวัดและรับรองคาร์บอนเครดิตที่ธุรกิจ SMEs อาจมองว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งภาครัฐอาจต้องมีส่วนในการสรรหาที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้มีจำนวนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่าย และเหมาะสมต่อระดับความเข้มงวดของมาตรฐานหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้
ขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนของภาคเอกชนบางส่วน ภาครัฐอาจพิจารณาให้การสนับสนุนด้านเงินทุนที่นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกิจการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กิจการด้านพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวอย่างของมาตรการในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา และอียู
ทั้งนี้ โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็อาจเป็นทางเลือกที่ยากสำหรับการดำเนินการในขั้นแรกของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากประเด็นดังกล่าว อาจจะเป็นโจทย์ที่ยังรอได้มากกว่าการให้ความสำคัญแก่เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจที่มีความเร่งด่วน ยิ่งไปกว่านั้น หากจะใช้มาตรการสนับสนุนด้านการปรับตัวลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับผู้ประกอบการ ก็อาจต้องแลกกับภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ ในการชั่งน้ำหนักและหาความสมดุลในการดำเนินการ เพื่อยกมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจไทย เนื่องจากหากยิ่งช้า ก็จะยิ่งกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยในภาพรวม
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกร