-
“ส.อ.ท.” ระบุ ยอดการผลิตรถ EV เดือนม.ค. 67 เพิ่มขึ้น 9,214.29% รวม 652 คัน ยอดขายเพิ่มขึ้น 205.48%
-
คาดปีนี้ผลิตรถอีวีในไทย 50,000-100,000 คัน จากนโยบายบอร์ดอีวี 2 ปี ผลิตชดเชยยอดนำเข้า
-
สถาบันทางการเงินเข้มงวดสินเชื่อกดยอดขายกระบะหดตัวต่อเนื่อง หวังงบประมาณปี 67 กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนม.ค. 2567 ทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. 2566 ที่ 12.46% จากยอดผลิตจำหน่ายในประเทศลดลง 33.62% โดยเฉพาะรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงถึง 50.89% ตามยอดขายที่ลดลง ส่วนผลิตรถยนต์นั่งเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 14.68% จากรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่มียอดจดทะเบียน เดือนม.ค. 2567 จำนวน 13,314 คัน
ในขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เดือนม.ค. 2567 ในประเทศไทยมีเพียง 652 คัน ซึ่งปีที่แล้วผลิตได้แค่ 7 คัน จึงคาดว่าปีนี้จะมีจดทะเบียนใหม่เกินกว่า 1 หมื่นคัน ส่วนยอดผลิตทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 50,000-100,000 คัน เนื่องจากผู้ผลิตและจำหน่ายที่รับเงื่อนไขสนับสนุนจากรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่มียอดนำเข้าระดับ 8-9 หมื่นคัน จึงต้องผลิตชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการปล่อยสินเชื่อภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง จึงหวังว่าเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่น่าจะผ่านการอนุมัติในเดือนเม.ย.-พ.ค. นี้ จะช่วยทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้น ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชานมีรายได้มากขึ้น จะสามารถมีกำลังซื้อรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังหวังว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะลดลง ซึ่งอาจจะต้องดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ทั้งนี้ หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ย ก็เชื่อว่าประเทศไทยก็คงจะลดลงไปด้วย ตรงนี้จะทำให้ภาระ การชำระหนี้ดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมอนาคต และเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออก ตามนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนและนโยบายคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)
“การเข้มงวดสินเชื่อได้กระทบทุกสินค้า กลุ่มที่มีเงินเดือนแน่นอนก็จะซื้อรถยนต์ที่นั่งมากกว่า ส่วนกลุ่มที่ทำมาหากินมักจะซื้อรถกระบะและจะขาดหลักฐานการเงินต่าง ๆ จากผลกระทบหนี้ครัวเรือน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์มีมากถึง 50% โดยเฉพาะยอดขายรถกระบะที่ลดลง 30-50% ของปีที่แล้ว ดังนั้น เมื่องบเบิกจ่ายปี 2567 อนุมัติ การลงทุนการใช้จ่ายภาครัฐน่าจะดีขึ้น จะสนับสนุนยอดผลิตรวมปี 2567 ที่ตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 1.9 ล้านคันด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนม.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 54,814 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. 2566 ที่ 16.42% เพราะรถกระบะมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึง 43.47% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก
โดยรถ PPV มียอดขายลดลง 43.86% เพราะยังไม่มีรุ่นใหม่ออกมา ประกอบกับมีรถ SUV แบบ Hybrid ออกใหม่ในราคาจับต้องได้มาเอาส่วนแบ่งตลาดไป และรถบรรทุกขายลดละ 32.01% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าออกไปหลายเดือน ทำให้การลงทุน การใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปไปด้วย เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2566
ทั้งนี้ เดือนม.ค.2567 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่น ๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 85,758.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 12.15%
สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนม.ค. 2567 มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 15,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 238.71% ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 14,143 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 2566 ที่ 83.99% ในขณะที่ ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV มียอดจดทะเบียนใหม่มีจำนวน 940 คัน
ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 ม.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 301.75%
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ