“ผมเป็นคนบ้านนอก บ้านเกิดอยู่โคราชฯ ที่บ้านมีอาชีพทำนา อยู่กับท้องไร่ท้องนามาตั้งแต่เด็ก ทำให้ซึมซับความเป็นธรรมชาติ คุ้นชินกับต้นข้าวที่เขียวเต็มนา ต้นไม้ ป่าไม้ มาเห็นป่าถูกทำลาย อยากเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมสร้างผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จึงได้รับโอกาสจากผู้บริหารของซีพีเอฟร่วมเป็นคณะทำงานซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”
“อนุชิต ศรีสุระ” จิตอาสาซีพีเอฟ และคณะทำงานของโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำ ป่าสัก เขาพระยาเดินธง เริ่มทำงานกับซีพีเอฟ (บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไก่เนื้อ จะมาแชร์ประสบการณ์ และสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ จากการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ ภายใต้โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง
ภารกิจประจำของผม คือ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของสายฟาร์ม ส่วนหน้าที่หลักที่่รับผิดชอบอยู่ในฐานะคณะทำงานของโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง คือ สำรวจพื้นที่ปลูกป่า วางแผนการปลูก ประสานเรื่องแหล่งพันธุ์ไม้ สอนวิธีการปลูก การดูแลรักษา และสอนเรื่องของการวัดการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับคนในฟาร์ม เพราะมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ด้านพืชศาสตร์และภูมิทัศน์มาอยู่แล้ว หลังจบการศึกษาระดับปวส. พืชศาสตร์ จากวิทยาลัยเกษตรบุรีรัมย์ และปริญาตรี 2 ใบ ด้านส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ และธุรกิจการเกษตร จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ทำให้ได้รับโอกาสจากผู้บริหารซีพีเอฟให้ร่วมเป็นคณะทำงาน “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ ที่ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และซีพีเอฟ
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของโครงการฯเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่า เมื่อ 5 ก.พ. 2559 คณะสำรวจรุ่นบุกเบิกที่มี คุณนพดล ศิริจงดี ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นประธานคณะทำงานฯ คุณชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ นำคณะสำรวจลงพื้นที่เขาพระยาเดินธงครั้งแรก ผมมีโอกาสร่วมคณะไปด้วยในวันนั้น สิ่งที่เห็นและยังติดอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้ คือ ป่าที่นั่นแทบไม่เหลือสภาพของป่าดิบแล้ง มีแต่ฝุ่น กรวด หิน ให้เห็น พวกเราเห็นร่องรอยของร่องนํ้าที่มีแต่ก้อนหินก้อน ก้อนเล็ก ก้อนน้อยเป็นแนวยาว ซึ่งไม่มีความลึกเลย ไม่สามารถเก็บนํ้าในหน้าฝนเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ให้ดินในหน้าแล้งได้อย่างแน่นอน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการฯ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเป็นคณะทำงานซีพีเอฟรักษ์นิเวศ และเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่ร่วมฟื้นฟูและปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าวให้เติบโตขึ้นมาใหม่ คือ ความตั้งใจจริง ความต่อเนื่อง และความสมัครสมานสามัคคีของเพื่อนพนักงาน ที่ไม่ว่าจะเรียกระดมกำลังกันเมื่อไหร่ สามารถระดมจิตอาสามาช่วยกันได้เกินกว่าเป้าหมายทุกครั้ง นอกจากนี้ มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ออกแบบและจัดภูมิทัศน์ในพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธง เลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพดิน ปริมาณน้ำที่ใช้ ปรับพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ช่วยออกแบบและดูแลเรื่องการปลูกต้นไม้ที่โรงงานแปรรูปสระบุรี
นอกเหนือจากภารกิจประจำที่ต้องรับผิดชอบที่ฟาร์ม ได้แบ่งเวลาเพื่อเข้ามาติดตามงานที่โครงการฯสัปดาห์ละประมาณ 1-2 วัน ทุกครั้งที่เข้าป่า จะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่เห็นป่าตอนนี้ ต้นไม้โตขึ้นเรื่อยๆ หนาแน่นขึ้น ขณะเดียวกันประสบการณ์จริงจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า คือ ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกป่าจากผู้ชำนาญการด้านนี้จริงๆ ได้เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกป่า 4วิธี ที่ถูกนำมาใช้ในการปลูกป่าที่นี่ คือ
1.ปลูกป่าแบบพิถีพิถัน (จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง) 2. ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด 3.ปลูกป่าแบบเสริมป่า พื้นที่มีแม่ไม้และลูกไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมเรือนยอดเปิดให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ 4. การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นฟูป่าให้เร็วขึ้นกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และทุกวันนี้ ผมได้นำประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมโครงการปลูกป่ามาใช้กับงานประจำ เนื่องจากพื้นที่ฟาร์มบางฟาร์มมีพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการเขาพระยาเดินธง จึงได้นำการปลูกป่า 4 วิธี มาปรับใช้ในฟาร์มด้วย
เป็นอย่างไรบ้างค่ะชาวซีพี เราได้รู้จักจิตอาสาจากซีพีเอฟที่ได้บอกเล่าเรื่องราว ความสุขของการเป็นส่วนหนึ่งของคนซีพีที่ทำดีด้วยหัวใจ wearecpเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสทำความดีได้มาช่วยกัน
Cr:Pr CPF