นสพ.ผู้จัดการสัมภาษณ์พิเศษ คุณธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้นำธุรกิจไทยปักหมุดบนแผ่นดินจีน พร้อมดึงความร่วมมือในฐานะพันธมิตรที่แนบแน่นให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย จากจุดกำเนิดธุรกิจเกษตรและอาหาร กว่า 40 ปี เดินหน้าสู่ธุรกิจ ยานยนต์ มาดูที่มาที่ไปและเป้าหมายที่แท้จริง
จุดเริ่มต้นของ ซีพีในจีน
มาจากการที่ ท่านประธานใหญ่ ธนินทร์ เจียรวนนท์ ได้มาเรียนที่ประเทศจีนเมื่อสมัยเด็กๆ แล้วเกิดสงครามขึ้นทำให้ไม่สามารถกลับไปที่ประเทศไทยได้ถึง 4 ปี จนกระทั่งสงครามสงบ ซึ่งเมื่อมีโอกาสจึงคิดที่จะกลับมาตอบแทน ทำให้กลุ่มของซีพี ได้เข้ามาลงทุนเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่จดทะเบียนในประเทศจีน รหัส 001 ในชื่อของ เจียไต๋ คอนตี้ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเมล็ดพันธ์พืช
เข้ามาทำธุรกิจยานยนต์ได้อย่างไร
หลังจากที่ได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในจีน กระทั่งปี ค.ศ. 1985 ทางกลุ่มซีพี ได้ร่วมทำธุรกิจ รถจักรยานยนต์กับมณฑลเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ซีพีเข้ามาเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ก่อนที่จะยุติการทำรถจักรยานยนต์ เมื่อตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป จากนั้นทางมณฑลเซี่ยงไฮ้ได้ก่อตั้ง Shanghai Automotive Industry Company (SAIC) เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์
เหตุใดจึงต้องเป็น SAIC
ในฐานะพันธมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ทาง SAIC ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของจีน มีแผนการที่จากขยายกิจการไปสู่ตลาดโลกมากขึ้นตามนโยบายของจีนที่จะเปิดประตูสู่โลกกว้าง ซึ่งทาง SAIC เคยไปลงทุนที่เกาหลีมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ คราวนี้จึงมองหาโอกาสใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเขามาปรึกษาเราในฐานะเพื่อน 2 ตัวเลือกสุดท้ายระหว่าง ไทย กับ อินโดนีเซีย
ผม(ธนากร) บินพาเขาไปดูตลาดทั้งสองแห่ง พร้อมให้คำแนะนำต่างๆ และปรึกษาแนวทางร่วมกัน แน่นอนว่าความจริงคือ เขาต้องการลงทุนในต่างประเทศ และเมื่อเรามีโอกาสที่ดี เราจึงต้องการดึงเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแทนที่จะปล่อยให้ไปลงทุนในประเทศอื่นซึ่งแนวทางของเราทั้งคู่คือ การสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ มีผลดีทั้งในแง่ของการนำเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยและการจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น จึงได้ก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี ในประเทศไทยขึ้น โดยที่แบรนด์ เอ็มจี นั้นเป็นแบรนด์ของ SAIC ในการบุกตลาดโลก เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาทั้งหมด
มองตลาดรถยนต์ไทยอย่างไร
เป็นตลาดที่มีของแข็งแกร่งและมีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่ทว่าในช่วงเริ่มต้นของเอ็มจี ในประเทศไทยอยู่ในจังหวะที่ไม่ได้ เราเปิดตัวหลังจากที่โครงการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และเราเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผิดพลาด ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่ง เอ็มจี6 นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในจีน แต่ในเมืองไทยตลาดนี้มีขนาดเล็กและคู่แข่งแข็งแกร่งมาก จึงทำให้ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักหลักพันล้านบาทในช่วง 2 ปีแรก
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่เคยล้มเหลวที่เกาหลีมาแล้ว ทาง SAIC ยืนยันว่าจะสู้ต่อจึงได้มีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ อย่าง เอ็มจี3 ออกมา และประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย ด้วยแนวคิดสำคัญคือ สินค้าต้องดี และมีราคาเหมาะสม
เป้าหมายของ MG ในไทย
การทำธุรกิจรถยนต์นั้นเป็นการลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างแบรนด์ สร้างความน่าเชื่อถือจากบริการหลังการขายที่ดี พิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า เราดูแลเขาได้ ทุกอย่างจึงต้องใช้เวลา จากช่วงเริ่มต้นที่เราเป็นฝ่ายเดินไปหาเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย ปัจจุบันกลายเป็นมีผู้สนใจสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีมากขึ้น แต่เราจำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไปในการขยายให้สอดคล้องกับยอดขาย เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ดีทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
เนื่องจาก การเป็นดีลเลอร์นั้นจะมีเรื่องของการให้บริการลูกค้า ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากรไม่ว่าจะเป็นทีมช่าง ทีมขาย ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมให้ได้มาตรฐาน ตรงจุดนี้เองถ้าเร่งมากไปจะไม่ได้คุณภาพ การขยายดีลเลอร์จึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้โรงงานของเราในเมืองไทย มีการเตรียมความพร้อมรองรับการผลิตได้มากสุดถึง 200,000 คันต่อปี โดยมีเป้าหมายแรกคือ จะทำการผลิตให้ได้ถึง 100,000 คันภายในเวลา 3 ปี โดยจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศไทยและส่งออกไปขายทั่วอาเซียนและประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาอย่างเช่น อังกฤษและออสเตรเลีย เป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งออก