คุณศุภชัย CEO เครือซีพี แนะมองหาโอกาสจากเมกะเทรนด์โลกที่มาควบคู่ Disrupt ท่ามกลางแนวโน้มศก.โลกชะลอตัว

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในงานสัมมนา THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ ในประเด็นระบบเศรษฐกิจและ Outlook ในปี 2020 ว่า จากข้อมูล เศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ปี (2019-2020) ทางเวิลด์แบงก์ ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการเติบโต (GDP) ลดลง 0.3% โดยการเติบโตที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในครั้งนี้ หลักๆ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากที่สุด คือ อินเดีย และจีน ที่คงระดับไว้ในอัตรา 6-7% ส่วนประเทศไทยจะยังคงเติบโตราว 2.8% และกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกยังเติบโตต่อเนื่องในระดับ 7%

เมื่อดูเมกะเทรนต์ของโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีด้วยกัน 7 ข้อ ได้แก่ Digital Connectivity & Convergence, Infrastructure Development, Urbanization, Health wellness&well-being, Bricks&Clicks, Social Trend (Aging) และ New Business model

คุณศุภชัย กล่าวว่า เมกะเทรนด์เหล่านี้จะสร้างโอกาสพร้อมๆกับการสร้างวิกฤต เห็นได้จาก Digital Connectivity ที่ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้มือถือกว่า 5 พันล้านคน จากประชากรทั่วโลกทั้งหมด 7 พันล้านคน และมี Internet User ถึง 4 พันล้านคน ดังนั้น ระบบที่เป็น Digital Economy จะถูกขับเคลื่อนจากฝั่งของผู้บริโภคอย่างแน่นอน และหากอุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนตามผู้บริโภคก็จะไม่สามารถอยู่ได้ โดยคาดการณ์การเติบโตของ DATA Consumption ของโลก ในช่วงปี ค.ศ.2017-2022 หรือใน 6 ปี จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 26% และในเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 32% ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาพร้อมกับโอกาส

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวผลักดันให้การเติบโตของ DATA Consumption ของโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการคาดการณ์การใช้ระบบ 5G ในปี ค.ศ.2025 จะสูงถึง 2,720 ล้านคน โดยประเทศจีนจะมีผู้ใช้มากที่สุดราว 1,040 ล้านคน ขณะที่ในแง่ของ Internet Economy จะเป็นส่วนหนึ่งของ Global Economy ซึ่งในประเทศอาเซียนจะมีการเติบโต (Asean Internet Economy Market Size) ถึง 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบไปด้วย E-Commerce, Online Travel, Online Media, Ride Hailing เป็นต้น อย่างไรก็ตามมูลค่าการเติบโตดังกล่าวถือว่าสูงมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย คิดเป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศ

ด้าน Infrastructure ปัจจุบันก็มีการสร้างเมืองอัจฉริยะ การสร้างรถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงไฮเปอร์ลูป เป็นต้น ซึ่งมีการขับเคลื่อนไปทั่วโลกและทำให้เกิดผลกระทบกับสังคม เศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดพื้นฐานใหม่ทางด้านเศรษฐกิจ และสามารถที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ในเรื่องของการเชื่อมโยง ส่วนการ Urbanization การสร้างเมืองใหม่ในลักษณะ Smart City จะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับเทรนด์ด้านสุขภาพ ทั่วโลกเริ่มพูดถึงอาหารที่จะทำให้คนมีอายุยืนขึ้น หากสามารถเชื่อมโยง Digital Connectivity เข้าไปด้วย จะช่วยทำให้ future of food production เกิดขึ้น และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร เหลือเฟือที่จะส่งออก ซึ่งเทรนด์ของโลกนำไปสู่เรื่องเล่านี้ ทั้งเรื่องสุขภาพ, อาหาร, food tech จะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ และมองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย

ขณะเดียวกันเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอีกเรื่อง คือ Aging โดยคนจะมีอายุในการทำงานที่ยาวขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล หากความคิดไม่แก่ก็จะทำงานได้นาน แต่หากความคิดแก่ไปตามอายุ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ อย่างไรก็ตาม มองว่า aging society แม้จะมีวิกฤตแต่ก็มาพร้อมกับโอกาส โดยการดูแลรักษาพยาบาลในที่อยู่อาศัยของคนชราจะเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น แต่จะกลายเป็นจุดสำคัญของการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคบริการ รวมถึงเรื่องของ New Business model โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามี Start up เกิดขึ้นมากมาย และมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ดิสรัปชั่นระบบเดิม ซึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ดิจิทัลมีเดีย, Ride Hailing และ ออนไลน์เพย์เมนต์ เป็นต้น

คุณศุภชัย กล่าวว่า สำหรับ World Economic Outlook อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ น่าจะกลับมามองว่าจะทำอย่างไรที่จะฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ เนื่องจากเทรนด์เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตลดลง แต่ในทางกลับกันการที่มองว่าอินเดียและจีนมีการเติบโตขึ้นทั้งสองประเทศ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติที่ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจโลกได้

ขณะที่ประเทศไทย มองว่าการขับเคลื่อนการลงทุนลดน้อยลงต่อเนื่อง โดยธนาคารส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนกับธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง จะทำอย่างไรให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นด้วย ซึ่งในต่างประเทศ หลายประเทศใช้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเข้ามาขับเคลื่อน ผ่านการให้ดอกเบี้ยต่ำ อายุการกู้ยาว ส่งเสริมทางด้านภาษี ส่งเสริมศักยภาพธุรกิจให้แข่งขันได้ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าประเทศไทยควรจะทำเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หรือการตั้งกองทุนระดับประเทศเพื่อลงทุนในธุรกิจที่สร้างเสริมกับสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ หรือออกไปลงทุนนอกประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนในอาเซียนยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2018 อันดับหนึ่งคือ สิงคโปร์ สอง คือ อินโดนีเซีย สาม เวียดนาม และสี่ คือ ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นตัวบอก Outlook ของประเทศ ที่นอกจากการลงทุนในประเทศแล้ว ในปี ค.ศ.2020-2021 ไทยเป็นประเทศที่น่าดึงดูด หรือน่าสนใจเพียงพอหรือไม่สำหรับการลงทุน และการดึงการลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่นอกประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

สำนักข่าวอินโฟเควสท์