จากเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าตามกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินนํ้าป่าคงอยู่ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร สุขภาพโภชนาการ สวัสดิภาพสัตว์ การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการบรรจุภัณฑ์ การจัดการพลังงาน นํ้า และของเสีย สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริโภค
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานหลายอย่างกำลังเดินสู่เป้าหมายในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยกคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร การส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย การพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตร่วมกัน ซึ่งปีนี้ดำเนินการไปแล้ว 75% และจะครบ 100% ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เรื่องดินนํ้าป่าคงอยู่ ที่ให้ความใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ส่วนปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ประกาศนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยเป้าหมายการลดใช้ยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะลดให้ได้ทั้งหมด จากที่ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน และต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติ ภายใต้หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ ได้แก่ 1.ปราศจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง 2.ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม 3.ปราศจากความเจ็บปวด บาดเจ็บ และโรคภัย 4.ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน และ 5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์
ด้านสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟดำเนินการทั้งเรื่องของ แพ็กเกจจิ้ง ทั้งบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง และบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่พยายามลดการสูญเสียและการสร้างขยะ ลดการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (Food Waste) ให้ได้มากที่สุด โดยมีการดำเนินงานเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการลดการใช้พลาสติกให้ได้ 100% ในปี 2568 สำหรับประเทศไทย และต่างประเทศในปี 2573 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) และสอดคล้องตามหลักการของข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact)
ในกรณีของข้าวโพดที่มีปัญหามาตลอด ซีพีเอฟยืนยันว่าหยุดซื้อแล้ว 100% เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย บริษัท บีเคพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้อในเครือของซีพีเอฟ สำหรับการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่บุกรุกป่า เผาป่า โดยเกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิที่ทำกินถูกต้อง และในขณะเดียวกันได้พยายามส่งเสริมเกษตรกรให้มีที่ทำกิน และมีรายได้โดยไม่บุกรุกพื้นที่ป่า
นโยบายที่วันนี้ซีพีเอฟใช้ในประเทศไทย ก็ใช้ในทั้ง 17 ประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปลงทุน โดยความเข้มข้นและรูปแบบการดำเนินจะแตกต่างกันไปตามกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ของซีพีเอฟเป็นผู้ดูแล ส่งประเทศที่โฟกัส อาทิ เวียดนาม อินเดีย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญ เป็นฐานผลิตที่มีกำลังการผลิตสูงและครบวงจรของซีพีเอฟ