คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์
ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์
คนอายุมากก็มักจะคิดถึงความหลัง …
ผมนึกย้อนไปในวัยเด็ก สมัยที่ยังเรียนโรงเรียนจีนชั้นประถมซึ่งครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนทั้งหมดจะเรียนวิชาภาษาจีน ยุคนั้นยังไม่มีชั้นเรียนอนุบาล แต่มีชั้นเตรียมป.1 เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กที่เพิ่งจากบ้านมาเข้าสู่ระบบการศึกษา
พอจบชั้นเตรียมฯ ขึ้นมาเรียนป.1 อยู่ๆ คุณครูก็มาประกาศในชั้นเรียนว่า ผมสอบได้ที่ 1 ของห้องโดยที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะในวัยนั้นก็ไม่เคยสนใจว่าจะมีผลการเรียนในอันดับที่เท่าไหร่
จากนั้นจนกระทั่งถึงป.5 มาเข้าเรียนที่โรงเรียนกุหลาบวิทยาในเครืออัสสัมชัญ ผมก็มักสอบได้อันดับที่ 1 อยู่บ่อยครั้ง แต่พอขึ้นชั้นป.6 ก็มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งซึ่งแซ่เดียวกับผมชื่อ ฉั่วอุ๋ยเมี้ยง เป็นผู้สอบได้ที่ 1 แทนผม !
เมื่อทราบผลสอบ ผมก็เริ่มรู้สึกไม่ค่อยสบอารมณ์กับไอ้หมอนี่สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้คิดร้ายอยากให้เขาประสบพบเจอกับสิ่งไม่ดีต่างๆ ซึ่งความรู้สึกนี้ภาษาพระเรียกว่า “ความอิจฉา” โชคดีที่ยังไม่เตลิดไปไกลจนกลายเป็น “ความริษยา” เพราะผมเกิดสติ คิดขึ้นได้ว่าคนเรามีดีต่างกัน ไม่จำเป็นต้องไปอิจฉาใครให้เสียเวลาและเสียอารมณ์ ผมจึงเปลี่ยนมาเป็นชื่นชม และชื่นชอบเขาแทน เพราะเพื่อนคนนี้หน้าตาดี พูดจาดี ดูมีอนาคตยาวไกล
น่าเสียดายที่เมื่อเรียนจบป.7 เขาก็ไม่ได้เรียนต่อ ต้องเสียสละให้น้องชายได้เรียนแทน ตัวเองต้องไปเป็นลูกจ้างร้านขายเทปเพลงที่หน้าโรงภาพยนตร์เทียนกัวเทียน ถนนเยาวราช ผมก็ยังหมั่นแวะไปเยี่ยมเยียนพูดคุยอยู่เนืองๆ เมื่อมีโอกาส จนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงาน ผมมีภารกิจรัดตัวต้องเดินทางทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศเป็นประจำ ทำให้ค่อยๆ ห่างหายกันไป แต่ก็ยังระลึกถึงอยู่เสมอ ไม่ได้พบเจอกันร่วมห้าสิบปี ป่านนี้เขาอาจจะกลายเป็นมหาเศรษฐีอยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่ทราบ เพราะเขาอาจจะเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทยตามสมัยนิยม ซึ่งผมก็ไม่อาจจะรู้ได้ว่าเปลี่ยนเป็นชื่ออะไร คนรุ่นนั้นเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีกันหลายคน เนื่องจากเริ่มทำงานเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอจนเรียนจบปริญญา คนยุคนี้ก็มีตัวอย่างให้ดูหลายคนเช่น บิล เกตต์, สตีฟ จ๊อบส์, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค ที่ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยได้โดยไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย …
ส่วนผม… หลังจากจบชั้นมัธยมต้น (ม.ศ.3) ผมก็ตัดสินใจสอบเข้าเรียนที่ ACC (ASSUMTION COMMERCIAL COLLEGE) ซึ่งญาติมิตรบอกว่าสอบเข้ายาก แต่เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน เพราะภาษาอังกฤษดี มีโอกาสทำงานในบริษัทต่างชาติ ซึ่งได้เงินเดือนสูงกว่าบริษัททั่วไป
ในปีหนึ่งเทอมแรกที่ ACC เมื่อผมเปิดดูใบแจ้งผลการสอบ ปรากฏว่าผมได้ 67 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม พอเพื่อนๆ ทุกคนเปิดดูผลคะแนนกันครบก็กลายเป็นว่า ผมสอบได้คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งของห้อง คราวนี้ผมตกเป็นเหยื่อของการอิจฉาและริษยาเข้าแล้ว ก่อนหน้านี้ผมเป็นเด็กยิ้มง่าย สุภาพ อัธยาศัยดี ทำให้มีเพื่อนเต็มห้อง แต่หลังจากประกาศผลสอบ เพื่อนของผมหายไปครึ่งหนึ่ง ! อีกครึ่งหนึ่งกลายเป็นพวกที่ไม่ชอบผม แถมบางคนในกลุ่มนี้ก็คอยกระแนะกระแหนตลอด 3 ปีจนจบหลักสูตร และเมื่อต่างคนต่างทำงานแล้วมีโอกาสพบเจอกันอีก คนเหล่านี้ก็ยังมีท่าทีที่ไม่น่าพูดคุยด้วยเลย
เข้าสู่เทอมที่สอง ผมสอบได้คะแนนลดลงเหลือ 63 คะแนนหลุดจากอันดับหนึ่ง เพื่อนๆ ที่ไม่ชอบผมมาตั้งแต่เทอมหนึ่งก็แสดงอาการสมน้ำหน้า แต่ปล่อยให้พวกเขาสะใจได้ไม่นาน เทอมต่อมาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ผมก็สอบได้ที่หนึ่งของห้องทุกเทอม และปีสุดท้ายได้คะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งของโรงเรียนอีกด้วย
ช่วงที่เรียนปีสุดท้ายหรือปีสามของ ACC ผมสอบเทียบสายสามัญผ่านเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงนำวุฒิไปสมัครสอบเข้าที่คณะเศรษศาสตร์ภาคค่ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเรียนควบคู่กันไปทั้งสองแห่ง เหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ผลสอบเทอมแรกที่ธรรมศาสตร์ ผมก็ยังสอบได้เกรด A ทั้ง 5 วิชา คิดเป็นเกรดเฉลี่ยเท่ากับ 4.00 !
แทนที่จะดีใจ ผมกลับรู้สึกอึดอัดอย่างมาก จนตัดสินใจไปปรึกษาภราดาซีริ่ว นักบวชชาวอินเดียซึ่งประจำอยู่ที่ ACC บอกกับท่านว่า ผมจะต้องเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง คอยระมัดระวังผลการเรียนให้อยู่ในระดับสูงสุดๆ อีกแล้วหรือ และผมจะต้องเพิ่มจำนวนคนที่มาอิจฉาให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ มันไม่ใช่วิถีชีวิตที่มีความสุขเลย ท่านจึงแนะนำผมว่า เราไปเอาความรู้ อย่าไปเอาชื่อเสียงเลย ทำให้ผมสบายใจ และดำเนินชีวิตแบบใหม่ตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อจบปีสามที่ ACC เหลือเรียนภาคค่ำที่เดียวที่ธรรมศาสตร์ ผมจึงไม่ได้ยึดเอาคะแนนสอบเป็นหลัก แต่เบนเข็มไปที่การทำงานจริงๆ ผมสมัครเข้าทำงานกับบริษัท เฮิร์กซ์ (ไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยาชั้นนำของเยอรมัน และต่อด้วยเครือซีพีตามลำดับ
ในการทำงานผมไม่ชอบแค่นั่งดูเอกสารอยู่ในออฟฟิศ แต่ชอบเดินทางออกไปสัมผัสของจริงที่ต่างจังหวัด และพร้อมๆ กับที่การเรียนรู้จากชีวิตจริงเพิ่มมากขึ้น ผลการเรียนในมหาวิทยาลัยของผมก็ลดลงสวนทางกันจาก 4.00 ค่อยๆ ถดถอยเป็น 3.80, 3.60, 3.30 จนเทอมสุดท้ายผมได้คะแนนคาบเส้นที่ 2.00 !
ผมภูมิใจว่า คนที่มีผลการเรียนจาก 4.00 หล่นลงมาเหลือ 2.00 ทั้งโลกคงจะมีแค่ผมคนเดียว ! ในขณะที่คนเรียนไม่ดีจากเกรด 2.00 มุมานะพยายามจนได้เกรด 4.00 น่าจะมีจำนวนไม่น้อย
ผมไม่ชอบความรู้สึกที่ผมไปอิจฉาเพื่อนที่มีผลการเรียนดีกว่า (โชคดีที่ยังไม่ถึงขั้นไปริษยาเขา) แต่ก็ไม่ชอบที่คนอื่นมาอิจฉาและแสดงความไม่เป็นมิตรกับผม เมื่อมีโอกาสได้พบปะสนทนากับคุณหมอประเวศ วะสี ที่ให้เกียรติมาเยี่ยมชมโรงเรียนสาธิตปัญญาภิวัฒน์ จึงได้อธิบายให้ท่านฟังว่า โรงเรียนของเราใช้ระบบการศึกษาแบบฟินแลนด์คือการเรียนแบบ HAPPY LEARNING ที่นี่ไม่มีการจัดอันดับเด็กให้เป็นที่หนึ่งหรือที่โหล่ ถ้าเด็กคนไหนเรียนอ่อนในวิชาอะไร ครูต้องเข้าไปช่วยให้เด็กพัฒนาดีขึ้นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงไม่มีบรรยากาศของการยกย่องหรือเหยียดหยามตามคะแนนที่ได้จากการสอบ คุณหมอประเวศเห็นตรงกับผมว่าระบบการศึกษาที่แบ่งชนชั้นเด็กเป็นห้องคิง ห้องควีน ก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาอย่างมาก
ในหมู่คนไทย ซึ่งจะติดตัวไปจนแก่ แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว ผลการเรียนเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของผู้เรียนประสบแต่ความสุขความสำเร็จเสมอไป ยกตัวอย่างคนใกล้ตัว เช่น รุ่นพี่คนหนึ่งของผมเคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย มีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆ แต่บั้นปลายชีวิตต้องติดคุกเพราะความประมาทขาดสติ
ที่เขียนเล่าเรื่องราวมายืดยาวนี้ ผมไม่ได้มีเจตนาเพื่อจะประชาสัมพันธ์ หรือโฆษณาโรงเรียนสาธิตปัญญา-ภิวัฒน์เลยแม้แต่น้อย เพราะโรงเรียนของเรามีเด็กสมัครเข้าเรียนล้นเกินจำนวนที่สามารถจะรับได้ เพราะเราไม่เคยเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ยินดีขาดทุนอยู่จนถึงทุกวันนี้ เพราะมีความสุขกับการสร้างโรงเรียนที่นักเรียนจะมาเรียนอย่างมีความสุขทุกๆ วัน ซึ่งจะช่วยส่งผ่านความสุขไปยังผู้ปกครองทุกคนด้วย ปัจจุบันนี้เรามีการเรียนการสอนเพียงชั้นม.1 – ม.3 และกำลังจะเปิดต่อเนื่อง ม.4 – ม.6 ไปตามลำดับ
ผมหวังอย่างยิ่งว่าโรงเรียนสาธิตปัญญาภิวัฒน์แห่งนี้ จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เปรียบเสมือนโอเอซิสกลางทะเลทรายการศึกษาที่แสนแห้งแล้ง เป็นสถานที่ที่ช่วยสร้างความสุขความชุ่มชื่นให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยถ้วนหน้า รวมทั้งอาจเป็นแบบอย่างให้เกิดโอเอซิสเช่นนี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและสติปัญญาของเยาวชนไทยให้เจริญงอกงามต่อไปไม่สิ้นสุด…