เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 62 คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญจาก FAO เป็นตัวแทนภาคธุรกิจ เพียงบริษัทเดียวในการเสวนาหัวข้อ “Emerging Trends and Future foresight” ระหว่างการประชุมผู้บริหารของ FAO ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและหาลู่ทางความร่วมมือระหว่างเครือฯ กับ FAO
ในการเสวนา คุณนพปฎล ได้กล่าวถึงประวัติ ลักษณะธุรกิจ และยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือฯ พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษา ได้แก่ การตรวจสอบย้อนกลับในกรณีข้าวโพด การจัดทำประกันแก่เกษตรกรพันธสัญญา การวิจัยและพัฒนาในกรณีของไก่เบญจาและการเพาะเลี้ยงแมลงวัน Black Soldier Flies การเกษตรแบบ 4 ประสานและครบวงจรของฟาร์มไก่ไข่ผิงกู่ และการทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่ที่กัมพูชา
ในช่วงถามตอบคุณนพปฎลได้ยกประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
(1) ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับความท้าทายในการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนเพื่อเลี้ยงประชากร 9,000 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2050 และโดยที่หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ เช่น FAO อยู่นานกว่าผู้บริหารของแต่ละประเทศ ซึ่งมักต้องเผชิญความผันผวนทางการเมือง ควรเพิ่มบทบาทมากขึ้นในการชี้แจงให้ผู้บริหารประเทศรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิตอาหารและเกษตรกรรมในประเทศนั้น ๆ ที่บางครั้ง ความเชื่อที่มีมาแต่เดิมในการทำการเกษตรอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไปและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้
(2) การส่งเสริมฟาร์มขนาดใหญ่อาจช่วยตอบโจทย์ในแง่ความต้องการอาหารได้ และมองว่าในอนาคต เกษตรกรรายย่อยอาจจะกลายเป็นหุ้นส่วนเจ้าของกิจการเกษตรบนที่ดินเดิมของตนที่ได้รับเป็นมรดกจากบรรพบุรุษและขนาดมักจะลดลงไปตามการจัดสรรในแต่ละช่วงอายุคน ดังนั้น ฟาร์มขนาดใหญ่ถือเป็นการรวบรวมที่ดินขนาดเล็กเหล่านี้เข้าด้วยกัน พร้อมกับนำวิธีการบริหารจัดการแบบเอกชน รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปเสริม บทบาทของพ่อค้าคนกลางเองก็จะลดลงอันเป็นผลจากที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้น
(3) ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กรขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่1.ธรรมาภิบาล 2.การส่งเสริมนวัตกรรมและการยอมรับความเปลี่ยนแปลง และ3.การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และเชื่อว่าทั้งสามปัจจัยนี้จะช่วยให้ FAO สามารถผ่านช่วงการปรับเปลี่ยนตัวเองในปัจจุบันได้สำเร็จ
Cr: ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร