ประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์บอกว่า การถ่ายโอนอำนาจการบริหารเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยตนไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงการทำงานหรือการตัดสินใจของเขา แต่ก็ไม่ได้คาดหวังให้ลูกชายทั้งสองอยู่บริหารงานยาวนานเกือบ 50 ปีเท่ากับที่ตนทำหน้าที่มา เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 9 ปี ที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจการบริหารงานให้กับคนรุ่นต่อไป (ตามเจตนารมณ์เดิมที่ให้ลูกแต่ละคน ใช้เวลาพิสูจน์ฝีมือในการบริหารงานในตำแหน่งเป็นเวลา 10 ปี)
“ผมตั้งใจให้คนในครอบครัวมานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ส่วนตำแหน่งซีอีโอนั้น ถ้าหาคนในครอบครัวที่เหมาะสมมาดูแลไม่ได้ ก็เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่มีความสามารถและเหมาะสม” ประธานอาวุโสธนินท์ กล่าว
ประธานอาวุโส เครือซีพี ยังได้กล่าวถึงหลานสองคนของครอบครัว ที่อาจจะขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของซีพี คือคุณธนิศร์ เจียรวนนท์” บุตรชายคนโตของสุภกิต ปัจจุบันบริหารธุรกิจของสยามแม็คโครในอินเดีย และคุณกรวัฒน์ เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของคุณศุภชัย ผู้ก่อตั้ง เอโค่ คอมมิวนิเคชั่น บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านการสื่อสารสำหรับองค์กร เมื่อปี 2555 ในวัยเพียง 17 ปี และยังติดทำเนียบนักธุรกิจแห่งเอเชียที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์
ปัจจุบันกระบวนการถ่ายโอนอำนาจยังดำเนินต่อไป โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประธานอาวุโสธนินท์ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอาหารและการเกษตร และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการธุรกิจค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ โดยมีคุณสุภกิตเข้าสวมตำแหน่งแทนในทั้งสองบริษัท และคุณศุภชัยนั่งเก้าอี้กรรมการบริหารของทั้งสองบริษัท
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท อาจมาจากสถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรชั้นนำระดับโลกของซีพีเอง ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพนักงานทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานใหม่ไปจนถึงผู้บริหารของทุกบริษัทในเครือ ซึ่งคุณธนินท์คาดหวังว่า สถาบันนี้จะสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบ ที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งสัญญาณของคุณธนินท์ในครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานขององค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮุนได สายการบินเกาหลี และ เครือเซ็นทรัล ซึ่งต่างมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติในการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร จากคนในครอบครัวมาเป็นการเปิดกว้างสำหรับผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากภายนอก เพื่อรักษาหรือเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจนั่นเอง
ที่มาข่าว: Nikkei Asian Review
ขอบคุณ The Bangkok Insight