ชาวซีพีรับมือข่าวปลอมข่าวลวง

สวัสดีครับพี่น้องชาวซีพี ทุกคนมีความสุขสุขภาพแข็งแรงกันนะครับ สัปดาห์นี้ผมมีเรื่องที่อยากชวนชาวซีพีชวนคิดชวนคุยถึงเรื่องราวที่กำลังมีการพูดถึงกันเกี่ยวกับเรื่องของ”ข่าวปลอม ข่าวลวง”ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาเฉพาะเมืองไทยแต่กลายเป็นปัญหาระดับโลก

“ข่าวปลอม” “ข่าวลวง”กำลังกลายเป็นปัญหาทางสังคมที่ทำให้ผู้คนเกิดความสับสน เข้าใจผิดในหลายๆอย่าง ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม แม้แต่ทางการเมือง ทำให้การรับรู้ข่าวสารมีความจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างรอบครอบก่อนที่จะมีการส่งต่อหรือแชร์ออกไป

อย่างที่เพื่อนๆหลายคนยังเจอะเจอเช่นข่าวหมู ไก่เป็นเอดส์บ้างล่ะ แม้แต่ข่าวเซเว่นจะเปิดปั้มน้ำมัน รวมทั้งข่าวเก่าที่เป็นเท็จอีกมากมายก็ยังวนกลับมาอีกมากมาย ซึ่งกิจการต่างๆของเครือฯก็ได้พยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมตลอดเวลา แต่ข่าวปลอมเก่าๆก็มีวนกลับมา จึงขอพวกเราชาวซีพีระมัดระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของ”ข่าวปลอม””ข่าวลวง”และช่วยกันเป็นหูเป็นตาหากญาติพี่น้อง เพื่อน คนรู้จักได้ข่าวปลอมเกี่ยวกับซีพีช่วยแจ้งเตือนกันครับ

ผมอยากแบ่งปันข้อคิดจากสำนักข่าวอิศรา โดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ที่บอกว่าการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนส่วนใหญ่หันมาเสพข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มีการส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพ ซึ่งพบว่า มีการส่งต่อกันแบบผิด ๆ สูงกว่าร้อยละ 80 จากบรรดาข่าวปลอมทั้งหมด และในระยะหลังยังพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหรือข่าวต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น ทวิตเตอร์ มีแนวโน้มที่จะถูกรีทวีตมากกว่าข่าวที่นำเสนออย่างถูกต้องและเป็นความจริง

ผลกระทบของข่าวปลอมมีผลกระทบต่อผู้เสพสื่อ ทั้งในแง่ทัศนคติความเชื่อ เช่นเรื่องการเมือง การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน บางเรื่องยังส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น เรื่องยา ข้อมูลสมุนไพรต่าง ๆ บางเรื่องนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ นอกจากนี้หากผู้เสพสื่อ มีการส่งต่อเรื่องราวที่เป็นเท็จ หมิ่นประมาท อาจเข้าข่ายความผิดทางกฎหมายได้ด้วย

ดังนั้น การรับมือข่าวปลอม นอกจากทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันอย่าง ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่มีเจตนาเผยแพร่ข่าวปลอม องค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ หรือองค์กรภาคประชาสังคม เข้ามาทำหน้าที่ผลิตเนื้อหาในเชิงข้อเท็จจริงเพื่อ “ต่อสู้” กับข่าวปลอมแล้ว ตัวเราเองคงต้องหาวิธีรับมือกับข่าวปลอมด้วย มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลทุกครั้ง ต้องเสพสื่อหรือข่าวสารจากหลากหลายแพลตฟอร์ม จึงเป็นเรื่องที่เพื่อนๆซีพีต้องตระหนัก และต้องคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน อย่าเชื่อ อย่าแชร์อะไรง่าย ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็น ‘เหยื่อ’ หรือเป็นส่วนหนึ่งในการแพร่ข่าวปลอม

ทางที่ดีเช็คกับหน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ของกิจการในเครือฯกัน เพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัยจากข่าวปลอมและช่วยกันป้องกันข่าวปลอมที่เกิดกับกิจการของเครือฯกันครับ