จากการเติบโตและความสามารถในการเข้าถึงโครงข่ายไซเบอร์ของผู้คนในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์มีสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทรู ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์นั้น สามารถสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อองค์กร สังคม ตลอดจนประเทศไทยเป็นอย่างมาก
และเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างรู้เท่าทัน หน่วยงาน Cyber Security จึงจัดสัมมนาเรื่อง “ความมั่นคงไซเบอร์กับพลวัตอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย” โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย คุณศิริพจน์ คุณากรพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) ให้การต้อนรับวิทยากรผู้บรรยาย ดร.วิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ คณะกรรมการจัดหาคอมพิวเตอร์ของรัฐ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มาเล่าถึงบทบาทของอุตสาหกรรมโทรคมมนาคม บทบาทของผู้ให้บริการโทรคมนาคมกับความมั่นคงทางไซเบอร์ ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น โดยมีคณะผู้บริหารให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ดร.วิษณุ กล่าวว่า รูปแบบภัยคุกคามที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภัยจากการบุกรุกหรือเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) การฉ้อฉล ฉ้อโกง หรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) และการบุกรุกหรือการเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusions) ซึ่งทุกองค์กรต้องตระหนักและให้ความสำคัญ แต่ความปลอดภัยหรือความมั่นคงทางไซเบอร์นั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้ ก็ต้องมาจากผู้ใช้งาน หรือตัวเรานั่นเอง ที่จะต้องรู้เท่าทัน ให้ความสำคัญ ป้องกัน และลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการถูกแฮกหรือโจมตีทางไซเบอร์ได้ เพราะส่วนใหญ่การถูกโจมตีทางไซเบอร์ มักมาจากผู้ใช้งานที่ละเลยหรือขาดความใส่ใจ ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในระดับองค์กรและการใช้งานส่วนตัว ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญ และตระหนักอยู่เสมอถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะสร้างผลเสียทั้งต่อเราเอง และองค์กร ตลอดจนประเทศชาติได้”
การโจมตีทางไซเบอร์ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กและไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกภาคส่วนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรขององค์กรในทุกระดับ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญ การเฝ้าระวัง และการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กร เพื่อป้องกันตนเองและหน่วยงานให้ปลอดภัยจากการถูกโจมตี นอกจากนี้ การติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็มีความสำคัญที่จะช่วยให้สามารถพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที