ภารกิจพิทักษ์ฟาร์มสุกร อีกความท้าทายของ ‘นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์’ผู้บริหารซีพีเอฟ

ใครจะรู้ว่าลูกชาวนาตัวเล็ก ๆ ใน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี คนนี้จะเติบโตมาเป็น นายสัตวแพทย์หนุ่ม ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการป้องกันโรค ASF ในสุกร ให้แก่ซีพีเอฟ บริษัทเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารชั้นนำระดับภูมิภาค ตลอดจนเป็นผู้แทนบริษัทในการร่วมมือกับภาครัฐและเกษตรกรหลายพื้นที่ เพื่อรวมพลังป้องกันภัยร้ายนี้อย่างสุดความสามารถ

“เลือกเรียนสัตวแพทยศาสตร์ เพราะความฝังใจที่ตอน 10 ขวบ ลูกหมาที่บ้านโดนหมาใหญ่ข้างบ้านมากัดไส้ทะลักและผมช่วยอะไรมันไม่ได้เลย” นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ เริ่มต้นบทสนทนา และเกริ่นต่อว่า สมัยเด็กเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 เป็นหัวหน้าห้องมาตลอด ไม่เคยไปโรงเรียนสายและทำหน้าที่ถือกุญแจโรงเรียนมาตั้งแต่ ป.3 เท่ากับได้สั่งสมความรับผิดชอบและความมีวินัยมาตั้งแต่เล็ก ๆ ภายหลังเรียนจบในปี 2535 ก็เข้าทำงานที่ CPF ทันที โดยรับผิดชอบงานด้านวิชาการของธุรกิจเป็ดได้เพียงปีเดียวก็ย้ายไปดูแลงานวิชาการให้ธุรกิจสุกร จวบจนกระทั่งปัจจุบันในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส

ด้วยมุมมองที่ว่า การทำงานแบบ “ต่อจิ๊กซอว์องค์ความรู้” จะช่วยให้งานใหญ่สำเร็จเมื่อประกอบกับวิธีทำงานที่ทุ่มเท ตั้งใจเรียนรู้ และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทำให้เขามองเห็นถึงสิ่งที่ฟาร์มสุกรควรจะเป็นในอนาคต และค่อย ๆ ผลักดันสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น เช่น การที่โลกมีแนวโน้มให้ความสนใจในด้านสวัสดิภาพสัตว์ และลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์

ในฐานะสัตวแพทย์ผู้ดูแลด้านวิชาการในธุรกิจสุกร จึงวางทิศทางการทำงานในภาพใหญ่ว่า ฟาร์มสุกรซีพีเอฟต้องมุ่งเน้นการป้องกันและควบคุมโรคเป็นสำคัญ เมื่อสุกรมีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีก็จะไม่ป่วย เมื่อไม่ป่วยก็มีสุขภาพที่ดี เมื่อสุขภาพดีแล้วการใช้ยาก็จะลดลงหรือไม่ต้องใช้ยาเลย เป็นที่มาของการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันนโยบายการลดใช้ยาต้านจุลชีพของซีพีเอฟทั่วโลกที่ World Animal Protection หรือองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยังยกให้ซีพีเอฟเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากมาตรฐานด้านระบบการป้องกันโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่โดดเด่นมาโดยตลอด

ความสามารถในเชิงวิชาการของหมอดำเนินเป็นที่ยอมรับอย่างมาก ในช่วงปี 2554 เขาก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าอบรมกับ ALA (Action Learning Associate) ของ ดร.โนเอล เอ็ม ทิชชี่ จาก Ross School of Business มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐ อเมริกา เพื่อพัฒนาเป็นผู้สอนของสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย

การทำหน้าที่ผู้บริหารด้านวิชาการของหมอดำเนิน ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากทุกคนในบริษัท ทั้งผู้บังคับบัญชาและทีมงาน และความสามารถดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่เพียงภายในบริษัท แต่ยังเชื่อมโยงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม และเกษตรกร เพื่อร่วมด้วยช่วยกันในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดี มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

เมื่อความท้าทายมาเยือน
ในปี 2561 ที่ผ่านมา แวดวงผู้เลี้ยงสุกรได้รับทราบข่าวโรค ASF ในสุกร ที่ระบาดไล่มาตั้งแต่ จีน เวียดนาม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พบในภูมิภาคเอเชีย ด้วยความที่โรคนี้ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน จำเป็นต้องทำลายหมูในจีนและเวียดนามไปแล้วนับล้านตัว สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและระบบเศรษฐกิจอย่างยิ่ง

“หากประเทศที่มีชายแดนติดกับจีนและเวียดนาม มีระบบบริหารจัดการป้องกัน โรค ASF ไม่ดี มันจะลุกลามมาถึงชายแดนไทยได้…เมื่อสัญญาณบอกเหตุเช่นนี้ บริษัทก็จำเป็นต้องจัดเตรียมรับมือในกรณีนี้ทันที โดยมีซีพีเวียดนามที่สามารถควบคุมฟาร์มของตนได้ เป็นกรณีศึกษาที่ดี”

หมอดำเนินมองโรค ASF เป็นความท้าทายที่ต้องเอาชนะ โชคยังดีที่มันไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคสามารถกินหมูได้ตามปกติ ความกังวลทั้งหมดจึงอยู่ที่จะทำอย่างไร ให้เกษตรกรไทย ซึ่งหมายรวมถึงผู้เลี้ยงหมู ทั้งประเทศ (ไม่ใช่เพียงฟาร์มของบริษัท) รอดพ้นสถานการณ์นี้

ความรู้ที่มีทั้งหมดถูกถ่ายทอดเป็นคู่มือการป้องกันโรค แจกจ่ายให้ทุกฟาร์ม สุกรทั้งของบริษัทและของเกษตรกร โดยวางระบบบริหารจัดการโรคภายในให้ทุกฟาร์มทุกคนต้องดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด และด้วยความที่โรค ASF มักเกิดในการเลี้ยงหมูหลังบ้าน ที่ไม่มีระบบป้องกันโรคที่ดีนัก เขาและทีมงานจึงเข้าร่วมกับภาครัฐแบ่งปันให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อสร้างพลังป้องกันในทุกวิถีทาง

“มันเป็นความท้าทายของทุกคนในวงการหมู ความยากที่สุดคือการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่งต้องชื่นชมภาวะผู้นำของกรมปศุสัตว์ รวมถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และทุก ๆ ฝ่ายที่ร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งรวดเร็ว เราอยู่ในวงการวิชาการของหมูมาทั้งชีวิต ทุกคนในวงการนี้ก็เสมือนหนึ่งเป็นครอบครัว การ ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจเพื่อร่วมป้องกันโรคในครั้งนี้ พร้อม ๆ กับได้เห็นความสามัคคีที่ร่วมกันแก้ปัญหา สร้างพลังใจในการทำงานเพื่อส่วนรวมมากทีเดียว”

มาตรฐานการป้องกันโรคของประเทศ ไทยได้ชื่อว่าดีที่สุดในภูมิภาคนี้ …ความร่วมมืออย่างจริงใจและการปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโรคอย่างจริงจังเคร่งครัดแบบนี้ล่ะที่เชื่อว่าจะช่วยให้ไทยรับมือความท้าทายนี้ ได้ นี่คือมุมมองของ นสพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ ผู้ทุ่มเทความรู้เพื่อร่วมพิทักษ์ฟาร์มสุกรให้เกษตรกรคนเลี้ยงหมูทั่วไทยอย่างเต็มกำลัง เป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีการป้องกันโรคจากองค์กรใหญ่อย่างซีพีเอฟสู่เพื่อนเกษตรกรทุกคน

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์