ทรูพาสื่อมวลชนเรียนรู้ดูการพัฒนา5Gของไชน่าโมบายล์ในประเทศจีนพร้อมลงทุน 5G อาศัยข้อได้เปรียบการมีไชน่าโมบายล์เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ใช้เป็นแนวทางพัฒนา 5G ในประเทศไทย แนะรัฐใช้แนวทางจีนที่ยกคลื่นความถี่ให้ฟรี เพื่อโอเปอเรเตอร์จะใช้เงินลงทุนเน็ตเวิร์ก พัฒนาแอปพลิเคชั่น โซลูชั่น เพื่อยกระดับประเทศ ก่อให้เกิดการลงทุนมหาศาล เม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่าการเก็บค่าคลื่นความถี่
ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูได้เริ่มเข้ามาศึกษาและดูงานการพัฒนาสู่ 5G ของไชน่าโมบายล์อย่างจริงจัง โดยไชน่าโมบายล์เป็นพัฒนมิตรทางธุรกิจของทรูอยู่แล้วจึงมีความเต็มใจที่ถ่ายทอดประสบการณ์การเปลี่ยนถ่ายไปสู่5Gให้กับทรูอย่างเต็มที่
ไชน่าโมบายล์ เป็นโอเปเรเตอร์ที่ให้บริการในจีน เสมือนเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอิสระในการทำงาน แต่อยู่ภายใต้ไดเร็กชั่นของภาครัฐเป็นรายแรกที่นำ 4G ให้บริการในจีนกลยุทธ์ในการให้บริการคือการมีสัญญานครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 900 กว่าล้านราย และมีอินเทอร์เน็ตให้บริการด้วยโดยมีฐานลูกค้า 100 กว่าล้านราย ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
‘ถ้าจะมองว่าไชน่าโมบายล์ใหญ่ขนาดไหนให้เอาโอเปอเรเตอร์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของทั้งโลกมารวมกันยังไม่เท่าไชน่าโมบายล์เจ้าเดียวในแง่ฐานลูกค้า’
ไชน่าโมบายล์เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ของทรู เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆก็มีการเชิญทรูมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันอยู่แล้ว โดยในครั้งนี้ (ไชน่าโมบายล์ เชิญทรูพร้อมสื่อมวลชนดูงาน 5Gที่เฉิงตู,เซี่ยงไฮ้ สัปดาห์ที่ผ่านมา) จะเป็นการมาดูงานเรื่องการติดตั้ง และยูสเคสของ 5G โดยพบว่าจีนพัฒนาไปถึงขั้นจัดทำเป็นโซลูชั่น เชื่อมโยงอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่ประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากไชน่าโมบายล์
‘หลายเรื่องน่าสนใจ แต่ครั้งนี้ทำให้เห็นของจริงประโยชน์ที่แท้จริงของ 5G ว่าจะสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ระดับ vertical ได้อย่างไร อย่างสมาร์ทซิตี้ ระบบป้องกันสาธารณภัย ความปลอดภัยของเมืองต่างๆ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือสาธารณสุข การแพทย์ ที่มีการนำประโยชน์ของ 5G มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเครือข่ายของ 5G หมอที่อยู่ตามเมืองใหญ่สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับหมอในชุมชนได้ หมอจากส่วนกลางได้เห็นภาพเอ็กซเรย์แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถให้คำแนะนำตลอดจนแนวทางรักษาได้ทันเวลา 5G จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากเรียกได้ว่าเข้ามาเปลี่ยนชีวิตประชาชนจีนได้อย่างมาก’
ในแง่การลงทุนไชน่าโมบายล์กับไทยมีความแตกต่างกัน โดยไชน่าโมบายล์ไม่ต้องลงทุนเรื่องคลื่นความถี่ ไม่ต้องเสียค่าคลื่นความถี่จึงไม่มีต้นทุนด้านนี้ เพราะรัฐบาลจีนเห็นความสำคัญของ 5G และต้องการขับเคลื่อนให้เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ของประเทศจริงๆ เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของไชน่าโมบายล์จึงไปอยู่ที่ยูสเคสเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับ R&D ที่จะมีประโยชน์เพื่อคนในประเทศจีนจริงๆ
ดร.กิตติณัฐ แนะว่าภาครัฐของไทยควรดูเป็นตัวอย่าง เรื่องไม่เก็บค่าคลื่นไม่เช่นนั้นกำลังเงินของเอกชนก็จะต้องไปลงที่ไลเซ่นต์อย่างเดียว ทั้งๆที่ควรไปลงเรื่อง R&D มากกว่า ควรมีการประสานกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ 5G เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การศึกษา สาธารณสุข ซีเคียวริตี้ต่างๆ มีการลงทุนเรื่อง R&D อย่างเต็มที่
‘5G เป็นนโยบายชาติ ซึ่งแต่ละประเทศมองแตกต่างกัน อย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในแง่การนำ 5Gมาพัฒนาประเทศ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีความตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาภาครัฐก็เข้าใจดีเรื่องข้อจำกัดด้านการลงทุนของโอเปอเรเตอร์’
ดร.กิตติณัฐ กล่าวย้ำว่า จริงๆแล้ว อยากให้มองว่าเรื่องการลงทุนไม่ได้เป็นการลงทุนของโอเปอเรเตอร์แต่เป็นการลงทุนของประเทศ เป็นต้นทุนของคนไทยทุกคน ประโยชน์จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนต้องให้ความร่วมมือกัน เห็นชัดอยู่แล้วว่า 5G จะเกิดประโยชน์ลงลึกไปในแต่ละเรื่อง โอเปอเรเตอร์ลงทุนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรมต่างๆ ภาครัฐ และนักวิจัยทำงานร่วมกันด้วย
ไชน่าโมบายล์ลงทุนแบบไหน
ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนของไชน่าโมบายล์ เป็นการลงทุนตามหัวเมืองใหญ่ก่อน เจาะลึกในพื้นที่ที่เทคโนโยลีแบบเดิมๆไม่สามารถเข้าถึงได้ โดย 5G จะเป็นทางเลือกแรกอย่างภาคการเกษตร ด้วย5G เกษตรกรจะรู้ได้เลยว่าจากลักษณะใบแบบนี้ควรเติมปุ๋ย เติมน้ำเพิ่มหรือยัง เป็นการลดการสูญเสียโดยการใส่ปุ๋ยโดยไม่จำเป็นเมื่อต้นไม้ยังไม่ต้องการ แต่โซลูชั่นที่เหมาะสมของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน อย่างจีน แผ่นดินไหว เป็นเรื่องสำคัญ ของไทยเราก็เรื่องน้ำ แนวทางการศึกษาจึงแตกต่างกันออกไป การนำเทคโนโลยีไปปรับใช้จึงไม่เหมือนกัน
‘ไชน่าโมบายล์เหมือนเป็นrole model ที่ดีของทรู โดยไชน่าโมบายล์มีการลงทุน 5G ตามขนาดประชากร ทั้งเฉิงตู มีการลง 5G ประมาณ 3 พันสถานีฐานในขณะที่ 4G มีประมาณ 1.6แสนสถานีฐาน’
โดยลักษณะการให้บริการ5G ของไชน่าโมบายล์ในจีนกับในประเทศไทย จะแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละประเทศ อย่างจีนมองว่าปัญหาแผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหญ่ แต่ของไทยมองว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องใหญ่แต่บางเรื่องนำมาปรับใช้กันได้ ยูสเคสไหนที่ตรงกับความต้องการของไทยทรูก็จะนำเข้าอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้ในประเทศไทย เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเริ่มศึกษาเองใหม่ รวมทั้งยังได้ราคาอุปกรณ์ที่ต่ำลงด้วย
‘ในแง่ ทรู อยากให้ 5G เกิดเร็วและเป็นประโยชน์กับการลงทุนมากที่สุด ไม่ใช่ลงทุน 5G แต่ยูสเคสเป็นแบบ 3G, 4G โดยมองว่าเซ็กเตอร์ เฮลแคร์ รีเทล พลังงาน ซีเคียวริตี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ถึงตอนนี้ทรูมีอยู่ในอยู่ในใจแล้วว่าจะมีการลงทุน 5G ในลักษณะไหน ตอนไหนที่ควรลงทุนมากน้อยเท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การลงทุนอย่างมหาศาลโดยที่ไม่เกิดประโยชน์’
***ลงเสาสัญญาณกี่ต้นดี ??
ดร.นริศ รังษีนพมาศ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค กลุ่มทรู กล่าวว่า ถ้าให้เทียบการลงทุนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็คงได้ประมาณเฉิงตู คือประมาณ 3 พันเบสก็ครอบคลุมเพียงพอพื้นที่ที่มีการใช้งานสูง แต่ถ้าจะให้แน่นๆก็ไปถึง 6พันเบส แต่ก็ต้องดูด้วยว่าคุ้มค่าการลงทุนที่จะไปถึง 6 พันเบสหรือไม่ โดยการลงเบสของ 5G จะลงในพื้นที่ ที่มีคนหนาแน่น ส่วนพื้นที่ไหนคนน้อยก็จะเป็น 4G แต่เมื่อถึงเวลาที่จะลงทุนก็ต้องศึกษาอีกครั้ง โดย5G มีความถี่ทั้ง สูง กลาง และต่ำ ซึ่งกสทช. จะนำมาประมูลปีหน้า ถ้าความถี่สูง 26 GHz เสาสัญญาณ1 ต้นไปได้ไกลไม่เกิน300 เมตรเฉพาะค่าอุปกรณ์ 3 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษา แต่ถ้ากลุ่มทรูทำคงอยู่บนความถี่แบบกลางน่าจะไปได้ไกลสัก 600 เมตร
ขณะที่การลงทุนจุดรับส่งสัญญาณ (cell site) ร่วมกันและใช้งานร่วมกันแชร์ค่าใช้จ่ายกันร่วมกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นนั้น เป็นหนึ่งในแนวคิดซึ่ง กสทช.ผลักดันเรื่องนี้อยู่ ปัญหาอยู่ที่ว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนเรื่องความไว้ใจกันก็เป็นอีกเรื่องที่คิดกันอยู่
‘หลายคนมองว่าการมาของ 4G เปลี่ยนพฤติกรรมคน แต่ 5G เปลี่ยนสังคม รัฐบาลจีนจึงไม่เก็บค่าสัมปทาน เพื่อต้องการให้เกิดการลงทุน 5Gแน่นอนผลตอบรับกลับมาในแง่อินฟราสตักเจอร์ของจีนพัฒนาไปไกลมาก ก่อให้เกิดการลงทุนมหาศาล เม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่าการเก็บค่าคลื่นความถี่ ถือเป็นประเด็นน่าคิดเมื่อมองกลับมาบ้านเรา’
ส่วนการเลือกใช้อุปกรณ์นั้น มีความเป็นไปได้ว่าการลงทุนในประเทศจะใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย โดยมองว่าเทคโนโลยีของหัวเว่ยจะล้ำหน้ากว่าแบรนด์อื่น 3-6 เดือนเสมอ
‘สหรัฐฯแอนตี้หัวเว่ยเหมือนเป็นการเตะตัดขา กลายเป็นเรื่องดีทำให้หัวเว่ยรู้ว่าตัวเองมีอะไรดีอยู่บ้าง และถึงเวลาต้องปรับตัวและวิ่งให้เร็วมากขึ้น’
ผู้บริหารทรูมองว่าบางประเทศเริ่ม 5G เร็วเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ อย่างสหรัฐอเมริกาบอกว่าตัวเองเป็นรายแรกที่เปิดตัว 5G แต่ช่วงนั้นมาตรฐาน 5G ยังไม่นิ่งอุปกรณ์ที่ซื้อไปก็ยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมาตรฐานเกิดก็ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ ระยะเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือไชน่าโมบายล์จะมีการจัดตั้งสถาบันที่ดูแลและสร้างผลิตภัณฑ์และแอปพลิเคชั่น5G ขึ้นมาโดยเฉพาะ อย่างโซลูชั่นไหนที่เกี่ยวกับเรื่องการแพทย์ก็จะนำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมพูดคุยกัน ทั้งหมอ ผู้ผลิตหุ่นยนต์ เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่ใช้งานได้จริง
‘มาครั้งนี้เราจะมาดูว่ามียูสเคสอะไรบ้างที่น่าสนใจ ถ้ามีเน็ตเวิร์กขึ้นมาแล้วขายแต่ซิมใส่มือถือคนก็ไม่สนใจเพราะไม่มีความแตกต่างจาก 4G ต้องมีจุดขายใหม่ๆเกิดขึ้น ปัจจุบันมาตรฐานอุปกรณ์ซัปพอร์ต 5G ยังไม่นิ่งต้องรอประมาณปลายปี ที่น่าสนใจอย่างรถยนตร์ไร้คนขับถ้าต้องการให้ใช้ได้จริงก็ต้องให้มีการตอบโต้ได้แบบเรียลไทม์เพื่อให้รถสามารถเบรกได้กระทันหันเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมาตรฐานจะเสร็จปลายปีนี้’