เมื่อวันที่ 26-27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณบุษดี เจียรวนนท์ ภริยา พร้อมด้วยผู้บริหารเครือฯ ได้แก่คุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ สหรัฐอเมริกา และคุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร ได้เข้าร่วมกิจกรรมและพบปะกับผู้นำด้านการส่งเสริมความยั่งยืนและผู้นำธุรกิจที่สำคัญ ณ นครนิวยอร์ก
โดยมีการหารือร่วมกับผู้นำขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของสหประชาชาติในการกำกับดูแลนโยบายระหว่างประเทศด้านอาหารและเกษตรกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร (food security) และโภชนาการแก่ประชากรโลก ในโอกาสที่นาย Qu Dongyu จากจีน ได้รับเลือกตั้งเป็น Director-General ของ FAO ซึ่งนับเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ก่อนได้รับเลือกตั้ง นาย Qu เคยดำรงตำแหน่ง Vice Minister of Agriculture and Rural Affairs ของจีน นาย Qu จึงได้ใช้โอกาสในการเดินทางมาสหประชาชาติ พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้นำด้านการส่งเสริมความยั่งยืนและด้านธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและเกษตรสำคัญของโลก ซึ่งนับเป็นการหารือครั้งแรกกับผู้แทนภาคธุรกิจตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง
และผู้เข้าร่วมการหารือที่สำคัญ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ Muhammad Yunus ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวบังกลาเทศ ที่ส่งเสริมการจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ประธานคณะผู้บริหารของ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) CEO ของบริษัท Danone และของบริษัท Mars ผู้อำนวยการของ EAT Foundation
คุณศุภชัย ได้รับเชิญในฐานะผู้แทนเครือฯ ซึ่งนาย Qu ได้กล่าวกับคุณศุภชัยด้วยว่า รู้จักเครือฯ ดีและได้มีโอกาสพบกับท่านประธานอาวุโสที่จีนหลายครั้ง
นาย Qu ได้เล่าต่อที่ประชุมถึงวิสัยทัศน์ของตนว่า ต้องการเร่งให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 1 และ 2 ได้เร็วที่สุดด้วยการสร้างเวทีความร่วมมือผ่านการใช้เทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การส่งเสริมโครงการชื่อ Hand-in-Hand
ศาสตราจารย์ Yunus ได้กล่าวแสดงความเห็นเน้นความสำคัญของกลไกการเงินที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเสมอภาคและได้รับผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยการยกตัวอย่าง Grameen Bank ที่ตนได้จัดตั้งขึ้น ซึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเจ้าของธุรกิจเอง (entrepreneurial) นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้ประชากรในชนบท (rural areas) เป็นผู้กำหนดวิถีการดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง ดังเช่น เกษตรกรควรมีสิทธิกำหนดราคาผลผลิตเอง ไม่ควรเป็นบทบาทของพ่อค้าในเมืองใหญ่
ในโอกาสนี้คุณศุภชัยได้กล่าวขอบคุณนาย Qu และย้ำความมุ่งมั่นของเครือฯ ในฐานะผู้ผลิตอาหารและวัตถุดิบสำคัญ ที่จะร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่โลก และได้กล่าวถึงบทบาทการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือฯ ด้วย
คุณศุภชัยยังได้หารือกับคุณ Lise Kingo, CEO และ Executive Director ของ UN Global Compact โดยคุณศุภชัยได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งและกิจกรรมของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่ตนได้รับปากไว้ระหว่างการเยือนนครนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 2015 ว่าจะรวบรวมภาคเอกชนไทยจัดตั้งสมาคมให้สำเร็จเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในไทย สอดคล้องกับหลักการสากลของ UN Global Compact ทั้งสิบประการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงการส่งเสริมภาคธุรกิจผนึกกำลังเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนั้น สมาคมฯ พร้อมจะร่วมจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 20 ปีของการตั้ง UN Global Compact ในปี ค.ศ. 2020 ทั้งนี้ ได้แจ้งด้วยว่า เครือฯ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกิจกรรม UN Global Compactโดยจะยกสถานะสมาชิกขึ้นเป็นสมาชิกระดับผู้นำ (Lead Membership) ในการนี้คุณ Lise ได้กล่าวขอบคุณคุณศุภชัยที่เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจไทยที่สนับสนุนและส่งเสริมความยั่งยืนในภาคธุรกิจและที่ได้ช่วยก่อตั้งสมาคมฯ ในไทยได้สำเร็จ ในส่วนของเครือฯ นั้น ยินดีอย่างยิ่งที่ทราบว่าเครือฯ จะร่วมเป็น Lead Member และได้เสนอให้เครือฯ พิจารณาเข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลด้วย
ต่อมาคุณศุภชัยยังได้หารือกับคุณธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะที่ได้เดินทางมารับตำแหน่งใหม่และได้เดินทางมานครนิวยอร์กเพื่อต้อนรับนายกรัฐมนตรี โดยคุณศุภชัยและคุณบุญชัย ได้ชี้แจงเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนของเครือฯ ในสหรัฐฯ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยคุณธานี ได้สนับสนุนให้เครือฯ ในฐานะผู้ลงทุนไทยรายใหญ่ในสหรัฐฯ พิจารณาจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมการค้าไทย-สหรัฐฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งอาจจะมีประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มาเข้าร่วมการประชุมด้วย
ต่อมาคุณศุภชัยพร้อมผู้บริหารเครือฯได้มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักข่าว Bloomberg ณ นครนิวยอร์ก และพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงสำนักข่าวฯ อาทิ นาย Michael Bloomberg ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Bloomberg LP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกิจการในเครือ Bloomberg นาย Justin Smith CEO ของ Bloomberg Media ที่รับผิดชอบการจัดการประชุมผู้นำธุรกิจต่าง ๆ ของ Bloomberg อาทิ Bloomberg Global Business Forum ที่นครนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการประชุม Bloomberg New Economy Forum ที่จะมีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ในเดือนพฤศจิกายน
นอกจากนี้คุณศุภชัยยังได้พบกับบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร Fortune ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับนาย Clifton Leaf บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร Fortune เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืนของเครือฯ อาทิ การผสมผสานเทคโนโลยีรวมทั้ง AI และ Big Data ในการทำการเกษตร เช่นที่ ฟาร์มไข่ไก่ผิงกู่ที่จีน การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการ การส่งเสริมนวัตกรรมในเครือฯ เพื่อให้เครือฯ พัฒนาอยู่เสมอ ความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและผู้นำ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของเครือฯ ในเศรษฐกิจยุค 4.0
รวมทั้งการหารือกับนาย Paul Polman ผู้ก่อตั้งองค์กร Imagine, ประธานร่วมของคณะกรรมการบริหาร UN Global Compact, ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา One Young World, ประธาน International Chamber of Commerce และอดีต CEO ของ Unilever คุณศุภชัยได้แจ้งความคืบหน้าของการจัดตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่นาย Paul ได้ชักชวนให้คุณศุภชัย เป็นผู้นำในการจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2015 และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการทำธุรกิจที่ยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้ นาย Paul ได้ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของคุณศุภชัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนับถือคุณศุภชัยเหมือนเป็นพี่น้องร่วมกับนาย Paul ในการผลักดันการทำธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในโลก
Cr:ดร.เนติธร ประดิษฐสาร