คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินกิจกรรมสร้างสมดุลป่าชายเลนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างแหล่งอาหารมั่นคงให้กับทุกชีวิต รวมทั้งต่อยอดสู่การสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในช่วง 5 ปี ( ปี 2557-2561) มีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ 2,388 ไร่ ขณะเดียวกัน ได้สร้างความตระหนักให้ชุมชนมีส่วนร่วมติดตาม ดูแล และรักษาป่าอย่างยั่งยืน
“ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลน และ ส่งเสริมความร่วมมือในเครือข่าย ชุมชน ช่วยกันติดตาม ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การป้องกันขยะจากทะเลที่เข้ามาทำลายกล้าไม้ป่าชายเลน การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กำจัดเพรียง โดยกิจกรรมวันนี้ ซีพีเอฟ ชุมชน และ นักเรียนโรงเรียนวัดตะเคียนงาม ซึ่งเป็นสถานศึกษาในพื้นที่ รวมมากกว่า 200 คน ได้ร่วมกันเก็บขยะที่ตกค้างในพื้นที่ป่าชายเลน ไม่ให้กีดขวางการเติบโตของต้นไม้ และในอนาคต เมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโตขึ้น จะช่วยกักเก็บคาร์บอนและมลพิษ”คุณวุฒิชัยกล่าว
คุณดวงฤดี ขวัญนิยม ประธานกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง กล่าวว่า ปัจจุบ้น พื้นที่ป่าชายเลน ต.ปากน้ำประแส เป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์มาก โดยหลังจากที่ซีพีเอฟเข้ามาร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ชุมชนรวมตัวกันเพื่อดูแลป่าอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกซ่อมแซมต้นกล้าที่ตาย การจำกัดเพรียง การเก็บขยะ ฯลฯ ซึ่งขยะที่เก็บได้ในแต่ละครั้ง จะถูกนำไปชั่งและคัดแยก มีการจดบันทึกข้อมูลไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูล ขยะบางส่วนสามารถนำไปรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้แล้ว จะคัดแยกเพื่อให้เทศบาลรับไปกำจัด ไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน “ทุกๆปี ชุมชนจะจัดกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาดและพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งที่ผ่านมา จัดมาแล้ว 6 ครั้ง กำจัดขยะได้รวม 2,695 กิโลกรัม” ประธานกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชน กล่าว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนผ่านการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร และทรัพยาการทางทะเล และ ข้อ17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน