นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป บรรดาค้าปลีกต่าง ๆ จะงดแจกถุงพลาสติกตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเลิกใช้ถุงพลาสติกให้ได้ภายในปี 2564 แล้วรู้หรือไม่ว่า การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และช่วยลดขยะพลาสติกได้มากน้อยแค่ไหน
ตามข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในไทยมีมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี โดยที่มาของถุงพลาสติกเหล่านี้มาจาก 3 แห่งหลัก ๆ คือ 40% มาจากตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย 40% คิดเป็นจำนวน 18,000 ล้านใบต่อปี , 30% มาจากร้านขายของชำ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี
อีก 30% มาจากห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ จำนวน 13,500 ล้านใบต่อปี และยังพบอีกว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้มีขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
ดังนั้น หากไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่สร้างพฤติกรรมงดการสร้างขยะพลาสติก เชื่อว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันจะแย่ลงแน่นอน จึงเป็นที่มาของโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ปี 2561-2573 วางเป้าหมายไว้ 2 เรื่อง ได้แก่
เป้าหมายที่ 1 ลด เลิกใช้พลาสติก และใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก ภายในปี 2562 จะให้เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และพลาสติกผสมไมโครบีดส์ ช่วงที่ 2 ภายในปี 2565 จะยกเลิกให้ใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ พลาสติกหูหิ้ว , กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก (ยกเว้นใช้กับเด็ก คนชรา และผู้ป่วย และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว)
เป้าหมายที่ 2 จะเป็นการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570
ทั้งหมดคาดว่า จะลดปริมาณขยะพลาสติกได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาทต่อปี
จาก ‘ลดให้ ลดรับ’ สู่ ‘งดให้ งดรับ’
สำหรับแวดวงของธุรกิจค้าปลีกนั้น ทาง ‘สมาคมผู้ค้าปลีกไทย’ ได้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ เริ่มจากแคมเปญ ‘ลดให้ ลดรับ’ ที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2561 จนถึง 31 สิงหาคม 2562 ด้วยการจัดกิจกรรมหลากหลาย เพื่อให้คนงดรับถุงพลาสติก โดยสามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 4.6% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด
จากนั้นได้ขยับความเข้มข้นของแคมเปญ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว ในวันสิ่งแวดล้อมไทย และวันที่ 4 ของทุกเดือน จนมาถึงการทำแคมเปญ Everyday Say No to Plastic Bags ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมกว่า 75 ร้านค้า รวมมีช่องทางจัดจำหน่ายกว่า 24,500 ช่องทาง
มาตรการดังกล่าวคาดว่า สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 9,000 ล้านใบต่อปี หรือประมาณ 20% ของขยะถุงพลาสติกทั้งหมด
สำรวจความพร้อมค้าปลีกไทย งดแจกถุง 1ม.ค.63
รีเทลยักษ์ใหญ่อย่าง ‘เซ็นทรัล’ ได้มีการประกาศถึงความพร้อมในการงดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม 2563 ผ่านสื่อและแคมเปญต่าง ๆ เช่น ในส่วนของเซ็นทรัล ฟู้ดส์ รีเทล กรุ๊ป ผู้ดำเนินการเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ , ท็อปส์ , แฟมิลี่มาร์ท และ มัทสึโมโตะคิโยชิ เปิดตัวแคมแปญ “ชวนพกเป๋า ไม่เอาถุง : STOP USING PLASTIC BAGS” เชิญชวนลูกค้านำถุงผ้ามาช้อปปิ้ง เพื่อร่วมกันลดการใช้พลาสติก ภายใต้แนวคิด ดูแลโลกเพื่อให้โลก ดูแลเราตลอดไป ฯลฯ
‘เทสโก้ โลตัส’ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง รวมถึงการออก ‘ถุงคืนชีพ’ ‘Bag for Life’ จะเป็นถุงพลาสติกแบบหนาที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ผลิตจากส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิล จำหน่ายราคาใบละ 3 บาท สำหรับขนาดเล็ก และ 5 บาท สำหรับขนาดใหญ่ โดยหลังจากที่ลูกค้าใช้ถุงนี้ซ้ำหลายครั้งแล้วหากเกิดการชำรุด สามารถนำถุงคืนชีพ กลับมาเปลี่ยนเพื่อรับใบใหม่ได้ที่สาขาที่ซื้อไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2563) จากนั้นเทสโก้ โลตัส จะนำถุงที่ลูกค้านำมาคืน เก็บเข้าระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงคืนชีพใบใหม่
ขณะที่ ‘เดอะมอลล์’ ออกแคมเปญงดแจกถุงพลาสติกแบบจริงจัง แต่ถ้าลูกค้าต้องการใช้บริการจะต้องเสียค่าใช้จ่าย 1 บาท ล่าสุดก็ได้ผนึกพันธมิตรอีก 15 แห่ง ที่สามารถแลกถุงผ้าได้ เพื่อใช้ในการช้อปปิ้ง โดยลูกค้าสามารถแลกรับกระเป๋า Reusable Bag ที่ กูร์เมต์ มาร์เก็ต และ โฮม เฟรช มาร์ท ทุกสาขา ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ได้เริ่มงดให้ถุงพลาสติกในร้าน 7-Eleven จำนวน 137 สาขากระจายทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ก่อนงดให้ถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2563 พร้อมเชิญชวนลูกค้าพกถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หากไม่ได้นำถุงผ้ามาใส่สินค้า เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ได้จัดเตรียมถุงผ้าจำหน่ายในราคา 10-199 บาท และสำหรับร้านที่ตั้งอยู่ตามเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็มีถุงกระดาษจำหน่าย
‘ลอว์สัน 108’ เปลี่ยนมาให้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 1 บาท โดยถุงนี้หากทิ้งหรือเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา และทิ้งในดิน จะย่อยสลายใน 1.5 ปี
แล้วคุณล่ะ พร้อมหรือยัง ในการพกถุงผ้าเวลาไปชอปปิ้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เราต้องเผชิญอยู่
Cr: www.marketingoops.com