ซีพีเอฟ จ้างงานคนพิการทำงาน 424 คน ช่วยงานในโรงเรียน 240 แห่งทั่วประเทศที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

หวังแบ่งเบาภาระของบุคลากรด้านการศึกษา สร้างกำลังใจ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้ภูมิใจในคุณค่าของตัวเองการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง สามารถยืนหยัดในสังคมได้มีศักดิ์ศรี เป็นหนึ่งในนโยบายภาครัฐ ที่พยายามส่งเสริมให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกเหนือจากการรอรับสิทธิ์พื้นฐาน เบี้ยยังชีพเพียงเดือนละ 800 บาท

คุณเชาวรินทร์ อภิธนัง อายุ 36 ปี อดีตเคยเป็นทหารและมาป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้าย วันนี้อาการดีขึ้นมาก เขาสามารถช่วยเหลือตัวเอง เดินทางไปไหนมาไหนเองได้ หนึ่งในผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว ที่ได้รับคัดเลือกเข้าทำงานในโครงการจ้างงานคนพิการ โรงเรียนบ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) อ.เมือง จ.เชียงราย กับบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด

คุณเชาวรินทร์ เล่าว่า เขาตื่นตั้งแต่ตี 4 ก่อนขี่จักรยานจากบ้านมาทำงานที่โรงเรียนบ้านดู่ ระยะประมาณ 5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยหน้าที่หลักๆคือการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เก็บไข่ และรดน้ำต้นไม้ รวมถึงจูงควายเข้าคอก
“ผมไม่มีอุปสรรคการทำงาน แทบเหมือนคนปกติประมาณ 90% แล้ว วันนี้วิ่ง และขี่จักรยานปั่นขึ้นดอยตุงได้แล้ว ตอนช่วงที่ผมป่วย ผมไม่มีรายได้มา 10 กว่าปี และไม่เคยคิดจะมีงานทำ คิดแต่ว่า ชาตินี้ให้แม่เลี้ยงจนตายแล้ว จนกระทั่งครูประสงค์ สิทธิ์วงศ์ มาถามหาคนพิการในหมู่บ้าน ” คุณเชาวรินทร์ ปัจจุบันได้ค่าแรง 310 บาท บอกว่า ปี 2563 เขาจะได้ปรับขึ้นอีก 5 บาทตามค่าแรงขั้นต่ำ “เงินเดือนออกมาเดือนแรก ผมให้แม่หมดเลย”

ขณะที่ ครูประสงค์ สิทธิ์วงศ์ โรงเรียนบ้านดู่ เล่าถึงสัญญาจ้างคนพิการทำงาน อายุไม่เกิน 55 ปี เริ่มตั้งแต่ไปหาข้อมูลจากเทศบาลตำบลบ้านดู่ ขอรายชื่อว่า ใครพิการบ้าง มีเงื่อนไขต้องทำงานได้ จากนั้นให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศ และประชาสัมพันธ์ใครอยากทำงานกับทางซีพีเอฟบ้าง ก็พบ 20 หมู่บ้านในตำบลบ้านดู่ มีผู้พิการ 700 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่สามารถทำงานกับโครงการนี้ไม่มีเลย

“เราจึงไปหาจากตำบลอื่นๆ กระทั่งมาพบเชาวรินทร์ ที่ตำบลริมกก ซึ่งการจ้างงานคนพิการ มีประเมินการทำงานทุกเดือน ผมพอใจในศักยภาพของเขานะ และเข้าใจการจ้างงานในลักษณะนี้ เราให้เขาทำหน้าที่ หลักๆ คือให้อาหารไก่ รดน้ำต้นไม้ เก็บไข่เป็ด ไข่ไก่ ทำงาน 8 ชั่วโมง” ครูประสงค์ ให้ข้อมูล

ปัจจุบัน ซีพีเอฟ จ้างงานคนพิการทำงานจำนวน 424 คน เพื่อช่วยงานในโรงเรียน 240 แห่งทั่วประเทศที่ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรด้านการศึกษา สร้างกำลังใจ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้ภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง

ขณะที่โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อร่วมบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสติปัญญาของเยาวชน

คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ให้ข้อมูลว่า ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 30 ทุกแห่งที่เราไปมอบโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง จะมีบุคลากรของซีพีเอฟติดตามดูแล และให้คำแนะนำการเลี้ยงไข่ไก่กับทางโรงเรียน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการผลผลิตไข่ไก่สดแก่ครูและนักเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้บริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ และโรงเรียนมีการดำเนินโครงการอย่างยั่งยืน

สำหรับโรงเรียนบ้านดู่ คุณผจณ กุณา ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ระบุว่า โรงเรียนบ้านดู่ฯ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 750 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 การที่ทางโรงเรียนได้รับความอนุเคราะห์ไก่ จากซีพีเอฟ 300 ตัว รวมถึงการสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ด้วยนั้น นอกจากได้สอนเด็กเรื่องงานอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ แล้ว เรายังมีผลผลิตไข่ไก่เพื่อมาทำอาหารกลางวัน นักเรียนได้รับประทานอย่างทั่วถึง

“ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนก็มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ 100 กว่าตัว แต่เราเลี้ยงแบบลูกทุ่งๆ ประกอบกับไก่และเป็ดเลี้ยงมานานใกล้ปลดระวางแล้ว จึงได้ผลผลิตไม่มาก”

เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ กับการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์แบบปล่อย ( Happy Chick ) ครูประสงค์ ให้คำตอบจากประสบการณ์ว่า การเลี้ยงไก่ไข่แบบ Happy Chick ผลผลิตไม่แน่นอน สำหรับการเป็นแหล่งอาหารกลางวันนักเรียนเราแทบไม่รู้เลยว่า ตัวไหนไข่ไม่ไข่ แต่การเลี้ยงแบบกรงตับ กรงละ 3 ตัว เราสามารถเช็คได้ มีผลผลิตแน่นอน

ขณะที่โรงเรือนมีมาตรฐานก็ตัดปัญหาเรื่องของกลิ่น และแมลงวันไปได้ ครูประสงค์ บอกว่า ทางโรงเรียนก็มีเคล็ดลับ คือการฉีดพ่นอีเอ็มเช้า-เย็น ตรงมูลไก่ เพื่อตัดวงจรชีวิตแมลงวันตั้งแต่ต้นทาง

ส่วนแหล่งอาหารโปรตีน นอกจากไข่สดใช้ปรุงอาหารกลางวันแล้ว โรงเรียนบ้านดู่ฯ ยังมีการเลี้ยงกบ หมู และปลาดุก “การมีบ่อเลี้ยงปลาดุกโตมา ไม่สามารถทำเป็นอาหารกลางวันนักเรียนได้ เพราะแม่ครัวไม่ฆ่า ขณะที่นักเรียนก็ไม่ฆ่าเช่นกัน จึงต้องขายให้แม่ค้าที่ตลาดไป จะเห็นว่า บางอย่างเราเลี้ยงก็ผูกพัน แต่หากเป็นเป็ด หรือไก่ไข่ ถ้าเป็นอาหารกลางวันเด็ก ผมว่าดีที่สุดแล้ว”

ก่อนครูประสงค์ จะทิ้งท้าย การเลี้ยงไก่ไข่ ก็ไม่ง่ายนะ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการด้วย นี่หากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน โรงเรียนบ้านดู่ฯ ประสบความสำเร็จ จะมีโครงการต่อเนื่องขยายการเลี้ยงอีก 1,200 ตัว เพื่อให้เป็นต้นแบบโครงการฯ และศูนย์การเรียนรู้ของภาคเหนือต่อไป…

ที่มา สำนักข่าวอิศรา