คุณปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยืนยันว่า บริษัทฯยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องในการขยายสาขาร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในปี2563ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการเติบโต อีกทั้งยังมีความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวของไทย รวมทั้งยังมีพื้นที่อีกมากที่ยังสามารถเปิดได้
โดยบริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะเปิดร้านเซเว่นฯ ประมาณ 700 สาขา ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่มีการขยายในปี2562 จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีเซเว่นอีเลฟเว่น ประมาณ 10,000 สาขา มากที่สุดลำดับที่2ในเอเชีย ขณะที่ประเทศที่มากที่สุดในเอเชียคือญี่ปุ่น
สำหรับผลประกอบการช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 62) ซีพี ออลล์มีรายได้รวม 423,184 ล้านบาท เติบโต 9.1% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยเฉพาะไตรมาส 3 ปี มีรายได้รวม 141,072 ล้านบาท เติบโต 8.72% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว
นอกจากการขยายสาขาเพิ่มแล้ว เซเว่นฯยังมีการเปิดดัวบริการใหม่ๆตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่นบริการฟู้ดดีลิเวอรี่ ที่เพิ่งเปิดตัวแอพพลิเคชั่นปิ 7 ELEVEN Delivery ในเดือนธันวาคมนี้ หรือแม้แต่การเปิดบริการซักผ้าชื่อ ออล ลอนดรี้ ซึ่งเริ่มทดลองในบางสาขาเพื่อเป็นการเก็บข้อมูล
ด้าน คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในปี 2563 ว่า สร้างการเติบโตในปี 2563 ซีพีเอฟจะมุ่งสร้างการเติบโต รวมถึงขยายธุรกิจในประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งใน 17 ประเทศที่บริษัทมีพื้นฐานอยู่แล้วหากมีโอกาส เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตมากทั้งนี้ การลงทุนตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะใน 17 ประเทศที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นฐานสำคัญในการสร้างรายได้หลัก และทำให้รายได้ของบริษัทฯเติบโต และสร้างสัดส่วนรายได้ให้มากถึง 70% ของรายได้รวมที่มีประมาณ 500,000 กว่าล้านบาท ส่วนรายได้ในประเทศมีเพียง 27-28% เท่านั้น และที่เหลืออีกไม่ถึง 5%มาจาการส่งออกจากประเทศไทย
ธุรกิจอาหารยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าภาวะกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนตัว มองว่า ประชาชนยังจำเป็นต้องบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชน ส่งผลให้ผู้บริโภคให้การตอบรับสินค้าของซีพีเอฟเป็นอย่างดี
“ซีพีเอฟ เป็นผู้ผลิตอาหารโปรตีนราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็น ไก่ หมู กุ้ง ปลา ไข่ไก่ ล้วนเป็นอาหารพื้นฐานที่คนต้องบริโภค และที่สำคัญ การผลิตของบริษัทเป็นการผลิตแบบครบวงจร จึงเชื่อมั่นว่า ธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบและสามารถเติบโตต่อเนื่อง” คุณอดิเรกกล่าว
ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นกังวลมากในปี 2563 ก็คือ เรื่องของภัยแล้ง ที่คุณอดิเรก กล่าวว่า ในปี2563 สถานการณ์ภัยแล้งอาจจะรุนแรงกว่ าปี 2562 และจะสงผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างรุนแรงแน่นอน อย่างไรก็ตามในส่วนของซีพีเอฟนั้น การผลิตปศุสัตว์ของบริษัทฯไม่น่าจะโดนกระทบเพราะเรามีแหล่งน้ำอยู่เพียงพอ
ด้านราคาสินค้าที่คาดว่าวัตถุดิบจะมีราคาเพิ่มขึ้นนั้นถือว่าเป็นวงจรปกติของสินค้าเกษตร ทีอาจมีผลให้ต้นทุนของซีพีเอฟปรับขึ้นได้เล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต การบริหารต้นทุน เน้นคุณภาพและบริการ
ที่มา ผู้จัดการ