“อนุจิตร รู้จบ” หนึ่งในครอบครัวที่ประสบความสำเร็จของโครงการการคอนแทรคฟาร์ม ซีพีเอฟ
“เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” (Contract Farming) คือ ระบบการผลิตและส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับบริษัทผู้ผลิต โดยมีการกำหนดคุณภาพ ปริมาณและรายได้จากคุณภาพของผลผลิต ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน มีบริษัทเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิต ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันระบบนี้ยังเป็นที่ยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ : Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) ในการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เพราะมีความโปรงใสและสนับสนุนการตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่การผลิตได้ดี
คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เริ่มมีการนำมาใช้หลังปีพ.ศ.2428 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นนำไปใช้บริหารจัดการผลผลิตในเขตอาณานิคม เช่น อ้อยและน้ำตาลในประเทศไต้หวัน ขณะที่บริษัทอเมริกันใช้เป็นสัญญาการปลูกกล้วยในทวีปอเมริกากลางช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สัญญารูปแบบคอนแทรคฟาร์มเพิ่มความสำคัญมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 ในยุคการค้าเสรีที่การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยนำประเด็น “ความยั่งยืน” มาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
สำหรับบริษัทผู้ส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารชั้นนำ มีการปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น GMP (Good Manufacturing Practice) HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) ISO 9000 ISO 14000 เป็นต้น และดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ อาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ ผลผลิตเนื้อสัตว์ ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปรงใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่สำคัญตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ริเริ่มโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ปี 2518 เพื่อส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงสัตว์รายย่อยโดยเฉพาะสุกร ไก่เนื้อและไก่ไข่ โดยบริษัทเป็นผู้ให้ความรู้และสนับสนุนเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ จัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
จันทิมาฟาร์ม โรงเรือนระบบปิด อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
ปัจจุบันบริษัทฯมีเครือข่ายเกษตรกรในโครงการฯกว่า 5,900 ราย ที่สามารถนำหลักการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานสากลไปปฏิบัติในฟาร์มได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ ซึ่งเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงด้านการตลาด จากการมีเป้าหมายการผลิตที่แน่นอน มีรายได้มั่นคงขณะเดียวกันยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น
คุณณรงค์ เจียมใจบรรจง ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับปรุงสัญญาคอนแทรคฟาร์มอย่างรอบด้านให้มีความทันสมัยตามแนวทางสากลของ UNIDROT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีโดยมีเกษตรกรเป็นพันธมิตรธุรกิจที่สำคัญ และพร้อมพัฒนาให้เติบโตไปด้วยกัน
ขณะเดียวกันสัญญาฉบับปรับปรุงใหม่ ยังได้รับการตรวจประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าความเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO-Food and Agriculture Organization of the United Nations) โดยนำไปเผยแพร่เป็นตัวอย่างในหลายประเทศ ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ส่งมอบสัญญาฉบับใหม่ให้กับเกษตรกรในโครงการฯตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558
ซีพีเอฟ ยังเป็นผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์รายแรกของประเทศไทยที่ทำ “ประกันภัยทรัพย์สิน” และ “ประกันภัยสต๊อกสิ่งมีชีวิต” ให้กับเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มรายย่อยในรูปแบบประกันรายได้ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากภัยธรรมชาติของเกษตรกร และเป็น 1 ใน 87 ของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดำเนินโครงการเกษตรพันธสัญญา ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
“อนุจิตร รู้จบ” อายุ 36 ปี เป็นหนึ่งในความสำเร็จของโครงการการคอนแทรคฟาร์ม ซีพีเอฟ ซึ่งทุกวันนี้เขามี 2 บทบาท คือ บทบาทที่หนึ่งในฐานะข้าราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ในอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และอีกบทบาทหนึ่งในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ “มะลิฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของครอบครัว ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ เมื่อปี 2541 จนถึงปัจจุบันเขามีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงลูกหมู 7 หลัง จำนวน 4,000-5,000 ตัว และยังมีโรงเรือนพักหมูสาวอีก 2 หลัง จำนวน 300 ตัว
อนุจิตร จบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสยาม จึงได้ใช้วิชาความรู้มาบริหารจัดการฟาร์มของครอบครัวให้เป็นระบบ และยังมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงฟาร์มสุกรแบบเก่าให้เป็นฟาร์มที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก ซีพีเอฟ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด สู่เป้าหมายการผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน
อนุจิตร เล่าว่า จากฟาร์มดั้งเดิมของครอบครัวที่การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ เมื่อเขาเข้าไปดูแลมีการจัดระบบใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่การจ้างแรงงานให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม จัดระบบบริหารและจัดการฟาร์ม ปรับปรุงโรงเรือนแทนการซ่อมแซม จนถึงการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เมื่อหมูได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี หมูก็มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยา
การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงช่วยลดต้นทุนได้มากทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 350,000 บาท ต่อการจับหมู 1 ครั้ง เป็น 600,000-800,000 บาท และเป็นรายได้ที่มั่นคงสำหรับครอบครัว
“มะลิฟาร์ม” ภายใต้การบริหารงานของอนุจิตร ยังคงเดินหน้าพัฒนาฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรของครอบครัว ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากที่สุด ฟาร์มของเขายังให้ความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยการซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพิ่มอีก 15 ไร่ เพื่อทำบ่อบำบัดน้ำเสีย และนำไบโอแก๊สที่ได้จากบ่อบำบัดไปปั่นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มด้วย และยังอยู่ระหว่างการศึกษาการติดตั้งโซล่าร์เซลส์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวางแผนขยายฟาร์มในรูปบริษัท เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นระบบอย่างแท้จริงให้ทุกคนในบริษัทมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแบบองค์รวมในอนาคตอันใกล้นี้
“จันทิมาฟาร์ม” อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เลี้ยงสุกรขุนในโรงเรือนระบบปิดมาเกือบ 20 ปี
อีกหนึ่งความสำเร็จในโครงการคอนแทรคฟาร์ม ของ ซีพีเอฟ คือ “จันทิมา ทองมา” เจ้าของ “จันทิมาฟาร์ม” ที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเลี้ยงสุกรขุนในโรงเรือนระบบปิดมาเกือบ 20 ปี และยังมีแผนที่จะวางมือส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานสานกิจการให้เป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไป จันทิมาฟาร์ม เริ่มต้นจากการเลี้ยงหมูในโครงการฯ 1,900 ตัว ตั้งแต่ปี 2543 และมีการขยายฟาร์มอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีหมูทั้งหมด 6,800 ตัว
จันทิมา เล่าว่า เธอเริ่มอาชีพเลี้ยงหมูแบบชาวบ้านไม่มีหลักวิชาการมาสนับสนุน ทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากปัญหาการจัดการฟาร์ม สุขภาพของหมู ปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา ราคาไม่มีเสถียรภาพ ที่หนักสุดคือเลี้ยงแล้วขาดทุน เมื่อเธอได้รับคำแนะนำจากสัตวบาลของ ซีพีเอฟ เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูแบบคอนแทรคฟาร์ม จึงเกิดความสนใจโดยเฉพาะลดความเสี่ยงจากปัญหาข้างต้น จึงตัดสินใจเข้าโครงการฯ ทำให้เรียนรู้การเลี้ยงหมูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี และมีหลักประกันด้านราคาไม่ต้องเผชิยปัญหาเดิมๆ ทำให้มีรายได้มั่นคงและครอบครัวมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
จันทิมาฟาร์ม
ThaiPublica