CP ผนึก ‘กว่างซี’ ปั้น ‘นิคมจีนซีพีจีซี’

เมื่อ สัปดาห์ที่ผ่านมา “ซีจี คอร์เปอเรชั่น” ได้ลงนามสัญญา กับธนาคารกรุงไทย ที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน 5,200 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี” หลังร่วมทุนกับบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป ยีอาน รัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในวงการธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่วางเป้าหมาย เจาะนักลงทุนจีนโดยเฉพาะ

“นสพ.ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย” ประธานกรรมการ บริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (CG) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ถึงโมเดลธุรกิจครั้งนี้

ตั้งบริษัทลูกจับมือรัฐบาลจีน
จี ซี ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยรวบรวมที่ดิน เตรียมพื้นที่ และร่วมดำเนินงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทั่งเกิดการร่วมทุนกันระหว่าง ซี.พี.แลนด์ ถือหุ้น 50% และบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป ยีอาน, ไชน่า ที่ถือหุ้น 48% รวมถึงบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป ยีอาน ไทย จำกัด อีก 2% ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เมื่อการร่วมทุนสำเร็จจึงได้ตั้งบริษัท ซีจีฯ ขึ้นมา และเริ่มดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี (CPGC) ในปี 2563

นิคม อุตสาหกรรมซีพีจีซี จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่นี้ ได้ใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าโครงการจะเป็นรูปเป็นร่าง พาร์ตเนอร์สำคัญ คือ กว่างซี คอนสตรัคชั่นฯ เขาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเต็มที่ เชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ อาคาร โรงแรม และที่พักอาศัย

3 เฟสเสร็จปี ’65
โครงการผ่านการทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว พื้นที่ทั้งหมดกำหนดเป็นส่วนอุตสาหกรรม 2,205 ไร่ สาธารณูปโภค 443 ไร่ พาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่สีเขียว 309 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส เริ่มปี 2563 เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 90% และโรงงานด้านสาธารณูปโภค ใช้เงิน 1,000 ล้านบาท

ตามด้วยเฟส 2 ที่จะเริ่มต่อกันทันทีปลายปีนี้ พื้นที่ 1,000 ไร่ ใช้เงิน 800 ล้านบาท เป็นส่วนต่อขยายถนนภายในนิคม และเฟส 3 เริ่มปี 2564 อีก 1,000 ไร่ ส่วนนี้ใช้เงิน 500 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานขนาดเล็กให้เช่า ในปี 2565 พื้นที่จะพัฒนาเสร็จพร้อมขายทั้งหมด แต่ก็มีบางส่วนเริ่มขายไปแล้ว

ตั้งเป้ายอดขาย 70-80%
ปี นี้คาดว่าเฟส 1 จะมียอดขายประมาณ 800 ไร่ แน่นอนว่าจะเน้นไปที่กลุ่มนักลงทุนจีน ด้วยเรามีพาร์ตเนอร์ที่สามารถหาลูกค้าในกลุ่มนี้ได้มาก อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องเป็นกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง new S-curve อย่างดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ ชิ้นส่วนอากาศยาน ปิโตรเคมีขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ โครงการแห่งนี้มูลค่าโครงการสูงถึง 10,000 ล้านบาท สามารถดึงการลงทุนเข้ามาจากภาคอุตสาหกรรมได้ถึง 60,000 ล้านบาท แม้ไวรัสโคโรน่าจะกระทบในการเดินทางมาช่วงนี้ของนักลงทุนจีน แต่ระยะสั้น 1-2 เดือนเท่านั้น ไตรมาส 2 ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม

ทุ่มทำโรงไฟฟ้า 38 MW
เมื่อ มีการตั้งโรงงานในนิคม จะเกิดการใช้พลังงานจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงมีแผนการตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซเทอร์ไบน์ขึ้นมาเป็นสเต็ปต่อไป เบื้องต้นหารือกับพาร์ตเนอร์ที่อาจมีมากกว่า 2 ราย ซึ่งจะสรุปภายในปีนี้ ในเฟสแรกของการลงทุนโรงไฟฟ้าจะอยู่ที่ 38 เมกะวัตต์ เมื่อครบทั้ง 3 เฟสจะต้องลงทุนผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 100 เมกะวัตต์ เงินลงทุนหากคำนวณในราคาปัจจุบัน 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงิน 1.4-1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้รูปแบบโรงไฟฟ้าแบบใด

โรดโชว์จีน-3 เมือง
หลัง จากนี้ การโรดโชว์จะไปตามคำเชิญของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มีสำนักงานอยู่ 3 เมืองหลัก คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ซึ่งแน่นอนว่าเขาทำงานเชิงรุกเช่นเดียวกับเรา การไปพบนักลงทุนจีนด้วยตนเอง จะทำให้การเจรจาและรับรู้สิ่งที่เขาต้องการ และเราสามารถมุ่งไปหากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น

 

Cr:ประชาชาติ