“วันนี้ส่งลูกเรียนจบปริญญาโทได้ 2 คน ปริญญาตรี 1 คน มีบ้าน มีรถ มีอาชีพเลี้ยงตัว หมดหนี้หมดสิ้น ชีวิตวันนี้ ได้มาเมื่อตัดสินใจเข้าเป็นเกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ”
สายชล บุญรอด เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เริ่มต้นเล่าด้วยสายตาและใบหน้าที่อิ่มสุข ตลอดชีวิตที่ผ่านมาของเธอคลุกคลีอยู่กับอาชีพเลี้ยงหมูมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ต่อมาหลังพ่อเสียชีวิต ก็ได้รับมรดกโรงเรือนเลี้ยงหมูมา 2 หลัง ซึ่งเธอก็สานต่ออาชีพเลี้ยงหมูอิสระนี้เรื่อยมา แต่ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด กระทั่งตัดสินใจที่จะยุติอาชีพเกษตรกร
“ตอนนั้นปี 2543 กำลังคิดจะเลิกเลี้ยงหมู เพราะแบกรับต้นทุนทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่าพันธุ์สัตว์ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ไหว ต้นทุนสูงแล้ว แต่เวลาขายหมู กลับขายไม่ได้ราคา ขึ้นๆลงๆ จนใม่คุ้มทุน หนี้สินก็บานปลายสะสมทบต้นทบดอก ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาท้อแท้ที่สุด ได้แต่คิดหาวิธีที่จะพลิกชีวิตติดลบนี้ให้กลับเป็นบวกอยู่ทุกวัน”
ในที่สุด เมื่อสัตวบาลของซีพีเอฟเข้ามาชักชวนให้ลองอีกสักตั้ง กับการเข้าเป็นเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทร็คฟาร์มมิ่ง ในรูปแบบประกันรายได้ ซึ่งบริษัทจะเข้ามารับความเสี่ยงในหลายๆด้านแทนเกษตรกร เช่น เรื่องของพันธุ์สัตว์ อาหาร วัคซีน รวมไปถึงการทราบเงื่อนไขการจ่ายผลตอบเเทน และมีเงินจ่ายล่วงหน้าระหว่างการเลี้ยงทำให้มีสภาพคล่องทางการเงิน มองเห็นตัวเลขเงินในบัญชีได้อย่างชัดเจน
“ปีนั้นคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต นอกจากบริษัทจะทำตามสัญญาที่ตกลงกันทุกอย่างแล้ว สิ่งที่ชอบใจมากคือ การที่สัตวบาลของซีพีเอฟ เข้ามาติดตามให้ความรู้และชี้แนะอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การเลี้ยงหมูของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้ครอบครัวของเรามาตลอด 20 ปี เรียกว่า ได้พลิกชีวิตติดลบกลับกลายมาเป็นบวกได้อย่างเต็มปาก”
สายชลยืนยันว่า การเข้าร่วมโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งกับ CPF ทำให้รู้ว่าบริษัทมีความมั่นคง มีความจริงใจ ไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ในทางกลับกัน กลับส่งมอบแต่สิ่งที่ดี มีพนักงานที่เข้ามาให้ความรู้และคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ และรู้สึกได้ว่าบริษัทให้โอกาส ให้ประสบการณ์ใหม่ ที่สำคัญคือให้ผลตอบแทนที่ดี กระทั่งทำให้ตนและครอบครัวสามารถกลับมายืนได้อย่างแข็งแรง หมดหนี้สิน และส่งเสียลูกให้ได้เรียนสูงๆ ได้ประกอบอาชีพที่ดีในสายงานที่เขารัก
“สิ่งที่ดีใจที่สุดคือการได้เห็นความสำเร็จของลูกทั้ง 3 คน แม้วันนี้จะมีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว แต่ก็จะไม่หยุดนิ่ง ตั้งใจจะนำความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูที่ได้จากบริษัท มาต่อยอดพัฒนาตัวเองต่อไป ให้สมกับที่บริษัทก็พัฒนาโครงการอยู่เสมอ ประทับใจมากกับการทำประกันภัยพิบัติให้แก่เกษตรกร เพราะไม่มีบริษัทไหนทำให้เกษตรกรแบบนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่า อาชีพเกษตรกรคอนแทร็คฟาร์มมิ่งกับซีพีเอฟ เป็นอาชีพที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงใดๆ”
โครงการ Contract framing ของซีพีเอฟ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2518 ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และเริ่มขยายงานไปทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรในโครงการกว่า 5,000 ราย ต่อมาในปี 2547 ได้ร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรปรับปรุงพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ตามรูปแบบฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ทำให้ฟาร์มของเกษตรกรทั้งหมดเป็นฟาร์มมาตรฐาน มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ส่งผลดีถึงประสิทธิภาพการเลี้ยง และเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
ต่อมาในปี 2558 บริษัทได้นำร่องปรับปรุงสัญญารูปแบบใหม่เป็นรายแรกของโลก โดยอ้างอิงข้อแนะนำตามหลักสากล ของ FAO หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้รับการทวนสอบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นไปตามหลักการสากลของ FAO และเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ปี พ.ศ.2560 นอกจากซีพีเอฟจะดำเนินการตามกฏหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่จัดทำประกันภัยทรัพย์สินการเลี้ยงและสต็อคสิ่งมีชิวิตภายในฟาร์ม เพื่อลดความเสี่ยงการเลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อย (ประเภทประกันรายได้) อีกด้วย
ที่มา สยามรัฐ