คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ข้าวตราฉัตร) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ ของ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด ในปีนี้ ข้าวตราฉัตร ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพะเยา และเกษตรกรสมาชิกผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ดำเนินการภายใต้”พะเยาโมเดล”ตามนโยบายของภาครัฐ ผ่านระบบส่งเสริมการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการตลาด โดยใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต เชื่อมกับพันธมิตรคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ C.P.INTERTRADE (SHANGHAI) CO.,LTD SHANGHAI RONGYOU INTER-TRADE CO.,LTD 7-Eleven และ Shoppe ให้เป็นช่องทางกระจายสินค้าข้าวหอมมะลิคุณภาพในแบรนด์ ข้าว “ฮัก พะเยา” สู่ตลาดโลก
“โครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ที่แน่นอน และความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกร นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งจังหวัดพะเยา ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นโอกาสอันดีที่ภาคเอกชนได้เข้าไปส่งเสริมปลูกข้าวในพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนขยายของโครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำบริษัทฯ นอกเหนือจากเขตพื้นที่ภาคอีสาน ที่บริษัทดำเนินโครงการฯ มาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปี”
คุณสุเมธ กล่าวว่า สำหรับจุดเด่นของโครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ภายใต้ระบบการผลิตข้าวคุณภาพด้วยมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices หรือ ข้าว Q) อยู่ที่ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ไม่น้อยกว่า 98% มาเพาะปลูกบนแปลงนาของเกษตรกรสมาชิกมีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อพัฒนาคุณภาพดินในแปลงนาให้ดีขึ้น ไม่มีสารตกค้าง น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตราย มีเกณฑ์การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรแบบถูกวิธี เหมาะสม และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบสำรวจแมลง ศัตรูพืช หรือโรคต่างๆ ในแปลงนา โดยการตรวจเช็คต้นข้าวในแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เลือกช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดีที่สุด และเกษตรกรสมาชิกทุกราย มีระบบการจดบันทึกข้อมูลเพาะปลูกทุกขั้นตอนการผลิตข้าว
เพื่อสามารถตรวจสอบที่มาของผลผลิตได้ในขณะที่บริษัทจะรับซื้อผลผลิตคืนในราคานำตลาด ตามข้อตกลงการรับซื้อผลผลิตคืนในรูปแบบ “พะเยาโมเดล” ที่ร่วมกันระหว่างสหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า, ธ.ก.ส. พะเยา จำกัด และบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด หรือ ข้าวตราฉัตรตั้งเป้าหมายรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกรสมาชิก อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ภายใต้โครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ รวมทั้งสิ้น 40,000 ตัน จากผลผลิตรวมทั้งหมดจังหวัดพะเยา จำนวน 181,340 ตัน
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพข้าวหอมมะลิในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ตั้งแต่ปีฤดูกาลผลิต 2560/61 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 2 ปีทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ส่งเสริมรวมทั้งหมด จำนวน 20,171 ไร่ และมีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 937 ราย โดยกระทรวงพาณิชย์ยกให้เป็นข้าวฮักพะเยา เป็นข้าวหอมมะลิที่ดีสุดในประเทศไทย คุณภาพอันดับ 1 ประจำปี 2562 นอกจากนี้ รายได้จากข้าว “ฮักพะเยา” ทุกถุง ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกร จ.พะเยา ที่อยู่ในโครงการ GAP Plus ขณะนี้ข้าวหอมมะลิ 100 % “ฮัก พะเยา” บรรจุขายถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 259 บาท ผ่านเดอะมอลล์, เซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขา ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ซีพีเฟรช มาร์ท, แม็คโคร สาขาที่ร่วมรายการ และช่องทางออนไลน์ผ่าน Shopee
Cr: กรุงเทพธุรกิจ