5 ปี น้ำพางโมเดล จากเขาหัวโล้น สู่ระบบเกษตรเชิงนิเวศ

เพราะอะไรฝนถึงไม่ตกตามฤดูกาล หน้าหนาวไม่ค่อยจะหนาว กลางวันร้อนก็จนแทบละลาย ฝุ่นควันก็เยอะ! เพราะป่าไม้ไม่เหลือยังไงล่ะ! แหล่งไม้หลายแห่งในประเทศถูกทำลายเกิดเป็นปัญหาภูเขาหัวโล้นและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เกิดปัญหาฝุ่นควันอยู่บ่อยครั้ง และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพื้นที่ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบในปัญหานี้

ต.น้ำพาง มีประชากรอยู่ 5,300 คน 1,079 ครัวเรือน มีพื้นที่ 2.8 แสนไร่ โดยอาชีพหลักคือการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำมากนัก มีความแห้งแล้งมาก และเป็นพื้นที่ห่างไกล ทำให้เกษตรกรหลาย ๆ คนเลือกที่จะปลูกข้าวโพด เนื่องจากทนแล้งได้และสามารถเก็บไว้ได้นานไม่เน่าเสีย โดยการทำไร่ข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีข้อเสียหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากพอสำหรับการเลี้ยงชีพของเกษตรกร ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การทำการเกษตรออกไปเรื่อย ๆ กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าขึ้น พื้นที่เป็นเนินเขาไม่ใช่พื้นที่ราบทำให้การถอนหรือไถดินกลบในการทำการเกษตรแต่ละรอบไม่สามารถทำได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเผาเพื่อให้หน้าดินเรียบและพร้อมในการเกษตรครั้งต่อไป ซึ่งนอกจากจะทำลายดินแล้วยังส่งผลเสียคือปัญหาฝุ่นและหมอกควันตามมา รวมไปถึงการทำลายป่าก็ยิ่งก่อให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น และจากราคาข้าวโพดตกต่ำ แต่มีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาหนี้สินกันเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร

จากปัญหาเขาหัวโล้น ฝุ่นควัน การบุกรุกป่า รวมไปถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ทำให้เกิดการร่วมมือในโครงการน้ำพางโมเดลขึ้น เพื่อร่วมกันอนุรักษณ์ธรรมชาติเดิมให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น และฟื้นฟูผืนป่าให้กลับคืนมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นน้ำยิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลธรรมชาติและระบบนิเวศไม่ให้ถูกทำลาย ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 โดยเป้าหมายคือ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงปีละ 20% ของพื้นที่ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการทุก ๆ ปี รวม 5 ปี เป้าหมายจำนวนต้นไม้ต่อไร่คือ ไม้ผลอย่างน้อย 25 ต้น ต่อไร่ และไม้ป่าอย่างน้อย 5 – 10 ต้นต่อไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยความมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้สิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน จากความร่วมมือและศักยภาพของทุกภาคส่วนทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งทางด้านเกษตรกรรม คุณภาพชีวิต และการฟื้นฟูป่า

จากเป้าหมายต้องการให้ลดการเกษตรเชิงเดี่ยว มาทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น ได้มีผู้มาเข้าร่วมโครงการกว่า 285 ราย 428 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 4,253 ไร่ โดยเริ่มจากการทำการสำรวจพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ไปจนถึงคุณภาพของดินเพื่อแก้ไขให้เหมาะกับการทำการเกษตร จากแนวคิดของโครงการในปีแรกให้ชาวบ้านเลือกพืชที่มีความสนใจ เพราะคิดว่าหากชาวบ้านมีความสนใจ หรือมีความถนัดจะส่งผลให้มีการดูแลที่ดีตามมา จึงได้พืชกว่า 35 ชนิด ที่ชาวบ้านต้องการปลูก

โดยทางเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นส่วนภาคเอกชนที่สนับสนุนทุนแรกเริ่มให้แก่เกษตรกร โดยการจัดหากล้าไม้ มีการสร้างโรงเพาะชำเพื่ออนุบาลต้นกล้าให้มีความแข็งแรงมากพอก่อนจะนำไปปลูกในพื้นที่จริงและมีการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เกษตรกรได้นำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่เมื่อปลูกแล้วพบว่าพืชบางชนิดไม่มีตลาดรองรับมากพอจึงเน้นไปเพียง 4 ชนิดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตที่ดี และเป็นที่ต้องการของตลาดคือ มะม่วงหิมพานต์, กาแฟโรบัสต้า, โก้โก้ และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งการทำการเกษตรแบบผสมผสานนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี เนื่องจากการปลูกพืชบางชนิด เช่น กาแฟหรือมะม่วงหิมพานต์ต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะเก็บผลผลิตได้ ด้านแหล่งน้ำที่เป็นปัญหาในพื้นที่ได้มีการแก้ไขโดยการสร้างฝายชะลอน้ำโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและชาวบ้าน สร้างระบบส่งน้ำยาว 2,600 เมตร เพื่อกระจายให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ 26 ครัวเรือน หรือพื้นที่กว่า 220 ไร่ ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเกษตร ส่วนชาวบ้านที่ปรับลดการปลูกข้าวโพด 100% ตั้งแต่ปีแรก จะได้รับการสนับสนุนถังพักน้ำและท่อส่งน้ำ มีทั้งหมด 64 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการ่วมมือในการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่าซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ

เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตั้งใจจริงที่จะร่วมแก้ปัญหาไปกับเกษตรกรและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนในทุกด้านอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สามารถทำได้เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่

5 ปี แห่งก้าวสู่ความสำเร็จของน้ำพางโมเดล ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวกว่า 2,767 ไร่ คิดเป็น 0.97% ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 92.88% มีจำนวนต้นไม้ 87,465 ต้น สามารถป้องกันไฟป่าชุมชนได้ 10,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2563 ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาและช่วยกันฟื้นฟูป่า ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านทุน ความรู้ นวัตกรรม หรือแม้แต่การลงแรงทำก็ตาม แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเล็กน้อยแค่ไหนแต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันก็สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ และในอนาคตมีความคาดหวังว่าจะสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวให้กลับมาได้มากขึ้นอย่างที่ทำมาเสมอ รวมไปถึงสามารถแก้ไข้ปัญหาที่ดินทำกินและการบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้านในพื้นที่ได้ทั้งหมด เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะป่าคือชีวิต ‘เราจะไม่หยุดจนกว่าจะเกิดความยั่งยืน