‘สภาพัฒน์’ จับมือเอกชนรายใหญ่ ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าขับเคลื่อนประเทศตอบโจทย์ SDGs หนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ช่วยเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาตามกรอบนานาชาติ หวังยกระดับเอสเอ็มอี ช่วยดึงการลงทุนเพิ่ม
นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าปัจจุบันการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยุ่งยืนให้เป็นเป้าหมายที่แต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ให้ได้ตามระยะเวลาที่แต่ละประเทศได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์เมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ได้มีการหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชนที่มีการทำงานเรื่อง SDGs มาอย่างต่อเนื่องเข้ามาทำงานในคณะอนุกรรมการร่วมกัน
โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนกว่า 10 บริษัท เช่น บริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด บริษัทบางจากคอร์ปอเรชัน จำกัด เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย บริษัท ปตท. จำกัด องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก เป็นต้น
ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อสรุปงานและขอบเขตที่เอกชนได้ดำเนินการเรื่องของ SDGs มาอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดทำแผนงานที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติได้ โดยที่ลักษณะการทำงานต้องเป็นการหนุนเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกันเพื่อให้เกิดความรวมเร็วในการขับเคลื่อนการทำงานในเรื่องนี้
นอกจากนั้น สศช.ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนภาคเอกชน เกี่ยวกับข้อคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อปิดช่องว่างการพัฒนาของไทยในด้านต่างๆและขอให้เอกชนที่มีการส่งเสริมการใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ถ่ายทอดการทำงานที่สำเร็จไปยังผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นเอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งซัพพายเชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายสนิทกล่าวด้วยว่าสำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดล้องกับทิศทางของโลกที่ต่อไปการนำเข้าสินค้า และบริการในยุโรป และประเทศพัฒนาแล้วในหลายประเทศ จะมีการนำเอาปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาพิจารณาร่วมด้วย ดังนั้นในเรื่องนี้ต้องมีการส่งเสริมการพัฒนารูปแบบธุรกิจให้บริการพลังงานทางเลือก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้แก่คนในชุมชนด้วย
“ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่สภาพัฒน์ตั้งคณะทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน ในการหารือกันครั้งแรกก็ได้มีการรับฟังข้อมูล แผนงานที่เอกชนที่ทำเรื่อง SDGs หรือเรื่องการปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนงานต่างๆเหล่านี้ต้องมาช่วยกันวางแผนว่าในระยะต่อไปจะทำอะไร เอกชนกับภาครัฐจะร่วมมือกันได้อย่างไรเพื่อ ปิดช่องว่างในสิ่งที่ไทยยังเป็นปัญหา และเสริมจุดแข็งในเรื่องที่ไทยดีอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างสังคมไทยที่สามารถพัฒนาไปในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้” นายสนิท กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ