สถานการณ์โควิด-19 ในไทยดีขึ้นตามลำดับ อัตราการติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศในโลกที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ดีที่สุด ถัดมาคือเกาหลีใต้,ลัตเวีย,มาเลเซีย และไต้หวัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค.2020) จัดอันดับโดย The Global Covid-19 Index (GCI)
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่ระยะผ่อนปรน ประชาชนผ่อนคลาย มีการจับจ่ายใช้สอย และเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น แต่ก็อย่างเพิ่งนิ่งนอนใจ และไม่ควรมองข้ามมาตรการการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ นพ. รุจาพงศ์ สุขบท ได้ให้ข้อสังเกตในการใช้ชีวิตท่ามกลางความปกติใหม่ (New Normal) กับ We Are CP ว่า “ยังคงต้องให้ความสำคัญกับมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นเมื่อเข้าไปทานอาหารในร้าน ก็ต้องดูว่า ร้านมีนโยบายรัดกุมแค่ไหนในการบริการ พนักงานใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ มีการเว้นระยะห่างโต๊ะ ระยะห่างการรอ และมีการเช็คอุณหภูมิ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การขอข้อมูลสแกนบาร์โค้ด สิ่งเหล่านี้เป็นมาตรฐานที่ต้องสังเกตดูก่อนเข้ารับบริการ ถ้าหากร้านไม่มีมาตรการป้องกันก็เข้าข่ายความเสี่ยง”
นพ. รุจาพงศ์ บอกอีกว่า “ควรทานอาหารในร้านที่เปิดโล่งดีกว่า เพราะอากาศถ่ายเท ร้านติดแอร์ อากาศหมุนเวียนภายในร้าน เพราะช่วงที่มีการระบาดในจีน มีการศึกษาพบว่า ร้านที่มีคนเป็นโควิดนั่งอยู่ตรงที่แอร์เป่า โต๊ะห่างไปก็โดนเชื้อติดหมด ร้านที่คนเข้าไปคนไม่นั่งห่าง คุยเสียงดังก็เป็นอันตราย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงต้องควบคุมไม่ให้ขายเหล้าในช่วงที่ผ่านมา เพราะทานอาหาร กินเหล้า จะคุยสนุก เสียงดัง ซึ่งอาจทำให้คนมีเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ เพราะฉะนั้นต้องดู ร้านที่คนแน่น เราไม่ควรเข้า ถ้าร้านไม่มีนโยบายชัดเจน ไม่ควรเอาตัวเองไปเสี่ยง”
สำหรับพนักงาน ที่ปัจจุบันกลับเข้ามาทำงานกันบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ 100% ก็ตาม พนักงานที่เข้ามาทำงานควรจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของบริษัทอย่างเคร่งครัด ยังคงต้องตั้งการ์ดป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง งดเอามือแตะใบหน้า ล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือทุกชิ้นก่อนและหลังใช้งาน แยกกันรับประทานอาหาร หรือนำอาหารมาทานเอง หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์ หรือบริเวณสาธารณะที่มีคนใช้เยอะ เพราะในอาคารสำนักงานระบบปรับอาการเป็นแบบปิด อากาศหมุนเวียนภายในอาคาร การป้องกันตนเองเป็นวิธีที่ควบคุมได้และง่ายที่สุด”
ทั้งนี้ ระยะผ่อนปรนเริ่มในช่วงหน้าฝนพอดี ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัด หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วโควิดจะกลับมามั้ย? นพ. รุจาพงศ์ กล่าวว่า “ในไทยและหลายประเทศ ไข้หวัดกับไข้หวัดใหญ่น้อยลงไปเยอะ เพราะทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ไม่แตะใบหน้า การติดเชื้อของโรคเหมือนกับโควิด พอทุกคนป้องกันก็เลยลดการแพร่ระบาดด้วย ทั้งนี้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า สิ่งใดที่มีเกณฑ์เสี่ยงต่อการไม่สบาย ป้องกันได้ก็ควรทำ”
Q: จริงหรือไม่ที่โควิดกลัวความร้อน?
A: จริง เชื้อโควิดโดนความร้อนที่ 54 องศา เชื้อก็ตายหมด ขึ้นอยู่กับว่าตากแดด แล้วแดดร้อนมากเท่าไร ที่เมืองนอกอาจจะตาก 3 ชม. ประเทศไทยอาจจะไม่ถึง
เสริมสร้างภูมิคุ้มกันช่วงโควิด
นพ. รุจาพงศ์ ยังแนะนำอีกว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทาน Supplement เสริมที่เป็น anti-oxidant เช่น วิตามินซี เบต้ากลูแคน สมุนไพร ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินดี ก็ช่วยภูมิต้านทานร่างกายได้
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ แต่ประชาชนยังประมาทไม่ได้ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่ให้เกิดการระบาดระลอก 2 ดีที่สุก ดูแลตนเอง คนที่เรารัก และสังคมให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
Q: พบคนเป็นลมในช่วงโควิด อยากช่วยเหลือต้องทำอย่างไร?
A: เหมือนการกู้ชีวิต CPR ทั่วไป เราตัวคนเดียว รีบหาคนช่วย ให้เรียกรถพยาบาล โทร 1669 หลังจากนั้นจึงเข้าไปดูว่าผู้ป่วยหมดสติอย่างไร ไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ ถ้ามีหน้ากากอนามัยสำรองเอาใส่ให้เขา หรือใช้ผ้า ทิชชู ปิดปากจมูกผู้ป่วย ทำการช่วยปั้มหัวใจ หาเครื่อง AED ในพื้นที่ กดหน้าอกอย่างเดียวจนมีคนมาช่วย ไม่แนะนำให้ mouth to mouth ในการช่วยหายใจ