โดย วริยา คำชนะ
สถาบัน “ไอเอ็มซี” เปิดเทรนด์ดิจิทัลไทยปี 2563 ชี้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นพลิกโฉมองค์กร เอไอขึ้นแท่นเทคโนโลยีดาวเด่น บิ๊กดาต้า 5จี บล็อกเชน ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ กระแสแรง เศรษฐกิจผันผวน สงครามการค้าไม่ส่งผลกระทบ องค์กรธุรกิจไทยยังตื่นตัวลงทุน อุตสาหกรรมไอทีแนวโน้มโตบวก
ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ผลักดันให้องค์กรธุรกิจทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว แน่นอนว่าโฟกัสหลักคือการลงทุนด้านไอที และปีนี้เทรนด์เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลรุนแรงหนีไม่พ้น ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น รวมถึงเอไอ โดยภาคธุรกิจมุ่งใช้เพื่อช่วยสร้างการเติบโต ยกระดับการบริหารจัดการ พร้อมเพิ่มความได้เปรียบการแข่งขัน ทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ
นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงแนวโน้มด้านดิจิทัลที่น่าสนใจในประเทศไทยปี 2563 ว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มองเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลักจะกลายเป็นหันไปโฟกัสด้านการนำไปปรับใช้
อ่านข่าว-สื่อออนไลน์-ดิจิทัลครองใจผู้ชม
โดยประเด็นสำคัญเช่น การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร การสร้างแผนกหรือหน่วยธุรกิจใหม่ การจัดการองค์กร การพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า รวมถึงการยกระดับความคิดของผู้นำ ฯลฯ
นอกจากนี้ องค์กรไทยจะตื่นตัวอย่างมากที่จะนำปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาปรับใช้ในหลายมิติ, มีการดำเนินการใช้บิ๊กดาต้าอย่างเป็นรูปธรรม, มีการประมูลคลื่นความถี่พร้อมทั้งตื่นตัวและทดลองใช้เทคโนโลยี 5จี, บล็อกเชนจะมีการเริ่มต้นใช้งานจริงมากกว่าเรื่องของเงินดิจิทัล
เขากล่าวต่อว่า เทรนด์ที่น่าสนใจในปีหน้าต้องจับตามองเรื่อง เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี(NDID) ที่ใช้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ และขณะนี้ทุกภาคส่วนรอคอยว่าจะมาเปลี่ยนโฉมการระบุตัวตน นอกจากนั้นกระแสที่มาแรงคือไอทีซิเคียวริตี้และการป้องกันความปลอดภัยข้อมูล ความเสถียรของระบบ พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล เทรนด์สุดท้ายฟินเทครวมถึงโมบายเพย์เมนท์จะมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 113 รายซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ปี 2562 ธุรกิจองค์กรในประเทศไทยเริ่มใช้เอไอมากขึ้น โดยเฉพาะระบบแชทบอท และอาร์พีเอ(Robot Process Automation)
ผลสำรวจชี้ว่า เอไอเริ่มเข้ามามีบทบาทในงานหลายด้านทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า การแนะนำสินค้าให้ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง การตรวจสอบการฉ้อโกงทางการเงิน การให้คำแนะนำการลงทุนในสถาบันการเงินผ่านระบบอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เอไอเพื่อป้อนข้อมูลจำนวนมากแบบอัตโนมัติ การใช้งานประมวลผลภาษา เช่น การแปลภาษา หรือการทำแชทบอท รวมถึงเทคโนโลยีจดจำใบหน้า
ไอเอ็มซีพบด้วยว่า เมื่อองค์กรต้องการลงทุนด้านเอไอ กูเกิลคลาวด์เป็นระบบคลาวด์ที่จะถูกนำมาใช้งานมากที่สุด 64.29% รองลงมาจะเป็นคลาวด์มาตรฐานเปิดหรือโอเพ่นซอร์ท 48.21% ไมโครซอฟท์อาชัวร์ 41.07% และอะเมซอนเว็บเซอร์วิส 38.39%
อย่างไรก็ดี องค์กรไทยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 49.11% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับเริ่มต้น ขณะที่ 30.36% มีความรู้ความเข้าใจเอไอในระดับพอใช้ ที่เข้าใจอย่างดีมีเพียง 11.60% องค์กรที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเอไอเลยมีอยู่ประมาณ 8.93%
ขณะที่ 74.11% ของกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่าเอไอจะมีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยมีเพียง 16.07% เท่านั้นที่คิดว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ส่วนที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจหรือคิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง
ด้านแนวโน้มการดำเนินการด้านเอไอขององค์กรไทย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างบุคคลภายนอก(outsource) ราว 40.18% รองลงมาเป็นการดำเนินการเองในบริษัท(in house) 32.14% ขณะที่ 17.86% ของกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีจัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูป
เมื่อถามว่ามีการนำเอไอมาใช้ในองค์กรหรือยัง กลับพบว่ามีองค์กรเพียง 10.7% เท่านั้นที่ใช้งานเอไอแล้ว ขณะที่อีก 25.9% ระบุว่ากำลังอยู่ในแผนดำเนินการ และ 39.29% กำลังดำเนินการศึกษา โดยหากมีการนำเอไอไปประยุกต์ใช้ในองค์กร ราว 60.71% จะเลือกทำแชทบอท ตามมาด้วยระบบอัตโนมัติอาร์พีเอ 49.11% รองลงมาเป็นระบบแบ่งกลุ่มลูกค้า ระบบจดจำใบหน้า ระบบป้องกันการล่อลวง ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และระบบอื่นๆ
ในภาพรวมการสำรวจชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำเอไอมาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% ตอบว่าสำคัญปานกลาง และ 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึงเอไอในองค์กร
ในมุมของผู้บริโภค แนวโน้มที่ผู้ใช้ชาวไทยในปีหน้าจะได้พบคือ ผู้บริโภคจะทำธุรกรรมการเงินและการชอปปิงค้าออนไลน์ได้สะดวกโดยไม่ต้องเดินทาง ผู้บริโภคจะเข้าถึงได้มากขึ้น ท่ามกลางราคาเทคโนโลยีที่จะถูกลง แต่ความท้าทายคือผู้ใช้จะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น
ผลสำรวจ “CIO Survey 2019” โดยการ์ทเนอร์ จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,791 คนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีการนำเอไอมาใช้ในองค์กรเพิ่มขึ้นจากปี 2561 อย่างมาก จากเดิมที่ 72% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่มีการใช้งานเอไอและมีการประยุกต์ใช้งานเพียงเล็กน้อย แถมส่วนใหญ่ใช้งานด้านการป้องกันภัยล่อลวง แต่ในปีนี้กลุ่มตัวอย่างตอบว่าเริ่มนำเอไอมาใช้ในแชทบอท และการยกระดับกระบวนการทำงานในองค์กรอย่างละ 26%