อาหารและเครื่องดื่ม เป็นรายการสินค้าส่งออกที่ถือว่ายังรักษาระดับการเติบโตดี เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 17,749 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.8 (YoY) ทั้งนี้ เมื่อมองไปในอีก 4 เดือนที่เหลือของปี 2562 คาดว่า สินค้าหลัก 2 กลุ่มที่จะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการขยายตัว ได้แก่
1) กลุ่มผลไม้สด-แช่แย็นแช่แข็ง : เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและเติบโตสูงสุดในบรรดากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในปีนี้ ผลไม้สดของไทยอย่าง ทุเรียน มังคุด ลำไยและเงาะ คาดว่าจะยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดปลายทางอย่าง จีนและอาเซียน โดยเฉพาะจีน ที่ปีนี้ทำลายสถิตินำเข้าทุเรียนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 98 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน
2) สินค้าปศุสัตว์: โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไก่ (สดและแปรรูป) ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหนุนหลักยังมาจากตลาดจีนและเกาหลีใต้ที่มีความต้องการเนื้อไก่สูง จากความนิยมบริโภคไก่ของคนรุ่นใหม่และผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจีน ที่ทำให้ต้องนำเข้าเนื้อสัตว์ทดแทนอย่างไก่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทยเองสามารถเจาะตลาดจีนและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน หลังจากทางการจีนเปิดตลาดให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย (ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561)
นอกจากนี้ สินค้าที่ขยายตัวได้ดีติดต่อกัน 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องเทศและสมุนไพร ยังเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีแนวโน้มขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลจากเทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต จึงทำให้สินค้าในกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดปลายทาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้งปี 2562 การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยจะสามารถเติบโตในแดนบวกได้ที่ร้อยละ 3.5 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่าราว 26,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากความต้องการของตลาดคู่ค้าที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและสามารถทำตลาดได้เหนือคู่แข่ง เช่น กลุ่มผลไม้และปศุศัตว์ อย่างไรก็ดี ในบางสินค้าอาจจะต้องจับตาแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะหดตัว จากประเด็นด้านการแข่งขันในตลาดที่สูงและปัจจัยเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าที่ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งได้ อาทิ กลุ่มสินค้าประมง รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ที่แม้ว่าช่วงต้นปีจะมีปัจจัยบวกในเรื่องของการประกาศยกเลิกสถานะใบเหลือง (Yellow card) ให้แก่ไทยในกลุ่มสินค้าประมง จากตลาดส่งออกสำคัญอย่าง EU แต่ยอดการส่งออกก็ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง
สำหรับทิศทางการส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มปี 2563 น่าจะอยู่ที่ระดับ 26,000-27,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ -2.0 ถึงร้อยละ 2.0 (YoY) ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอลงจากปี 2562 โดยในกลุ่มอาหาร มองว่า กลุ่มสินค้าประมง รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จะเป็นกลุ่มสินค้าที่อาจมีโอกาสหดตัว จากการเข้าไปขยายฐานการผลิตและจำหน่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในตลาดคู่ค้าทดแทนการส่งออก อีกส่วนหนึ่งอาจจะมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเด็นด้านภาษีและและสิทธิพิเศษทางการค้า ที่ปัจจุบันไทยยังค่อนข้างที่จะเสียเปรียบคู่แข่ง ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำดื่ม ฯลฯ การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่าง กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม) นับจากนี้ก็อาจจะเติบโตชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการของไทยหันไปขยายฐานการผลิตและจำหน่ายในประเทศดังกล่าวทดแทนการส่งออก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มในปี 2563 ได้แก่
1) ความต้องการในตลาดคู่ค้าที่ชะลอตัว อาจทำให้การแข่งขันในการทำตลาดรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่มีประเภทสินค้าส่งออกที่ใกล้เคียงกัน แต่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย เช่น
– ในตลาดฝั่งตะวันตกอย่าง สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ : กำลังซื้อผู้บริโภค อาจถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสงครามการค้า โดยกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มสินค้าประมง รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากพึ่งพาตลาดกลุ่มนี้สูง (ประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดไปยังตลาดโลก) โดยมองว่าคู่ค้าอาจจะมองหาแหล่งผลิตสินค้าประมงที่มีราคาถูกกว่าในระดับและคุณภาพไม่แตกต่างจากไทย หรือสินค้าของผู้ประกอบการไทยเองที่เข้าไปลงทุนหรือมีฐานการผลิตในสหภาพยุโรปหรือสหรัฐฯ
– ในฝั่งเอเชียอย่าง จีน: ในกลุ่มสินค้าผลไม้อย่าง ทุเรียน อาจถูกท้าทายจากคู่แข่งที่มีการปลูกทุเรียนเช่นเดียวกับไทย เช่น มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่พยายามหาช่องทางในการนำเข้าทุเรียนสดและแปรรูปสู่ตลาดจีนให้ได้ ผ่านการเจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี (ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา) ในระยะข้างหน้าอาจจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มลดลงได้ ส่วนสินค้าปศุสัตว์อย่าง ไก่สดแช่แย็นแช่แข็งก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเติบโตชะลอลง แม้ว่าความต้องการจะยังสูง แต่จีนก็มีทางเลือกหลากหลายในการนำเข้า ทั้งจากบราซิลซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 1 และคู่แข่งอย่าง อาร์เจนตินาและชิลี ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าเช่นเดียวกับไทยผ่านข้อตกลงทางการค้าที่ทำไว้กับจีน
2) สภาพอากาศที่แปรปรวน (ภัยแล้ง/น้ำท่วม) ที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว สับปะรด ข้าวโพด มะพร้าว เป็นต้น ปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องมายังโรงงานผลิตอาหารแปรรูปทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต/ ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น เช่น กลุ่มอาหารพร้อมทาน (RTE) สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดประป๋อง ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแปรรูปต่างๆ (กะทิ น้ำมะพร้าว) เป็นต้น
3) การแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาแล้วร้อยละ 7.4 นับตั้งแต่ต้นปี 2562 และเป็นการแข็งค่าเมื่อเทียบกับทั้งสกุลเงินหลักที่เป็นคู่ค้าและสกุลเงินในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่ง และมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้นในปี 2563
นอกจากนี้ อาจจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการกีดกันทางการค้าของคู่ค้า โดยเฉพาะความเข้มข้นด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเพื่อปกป้องทางการค้า (ทั้งในรูปแบบที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี) อาทิ มาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (เช่น มาตรการลด-เลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก) การเก็บภาษีในกลุ่มสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น การเพิ่มเพดานภาษีในสินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง) เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มของไทยในระยะข้างหน้า เทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต จะเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ โดยสินค้าที่สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคในอนาคต เช่น เกษตรอินทรีย์ (หรือออร์แกนิค) อาหารสุขภาพ อาหารพร้อมรับประทาน (RTE) โปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง อาหารทางการแพทย์ ฯลฯ จะเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการเติบโตและตอบโจทย์ต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่คาดว่าจะอยู่ในเทรนด์ดังกล่าว อาทิ ผักผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร สิ่งปรุงรส อาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมรับประทาน ฯลฯ ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย แม้มูลค่าจะไม่สูงมากแต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาใส่ใจกับการเลือกรับประทานและดูแลสุขภาพกันมากขึ้น
ในขณะที่รูปแบบการใช้ชีวิตยังต้องการความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ จากการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า ความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวก็คาดว่าจะได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ตัวอย่างสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อพิจารณาถึงการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบของอาหารสดหรือแปรรูปขั้นต้น-กลาง อาทิ ผักผลไม้-เครื่องปรุงรส-ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและเครื่องดื่มออร์แกนิค เป็นต้น ซึ่งในระยะหลังประเทศคู่แข่งก็เริ่มหันมาเจาะตลาดในกลุ่มสินค้าเหล่านี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกาะไปกับเทรนด์การบริโภคที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ในขณะที่การผลิตและพัฒนาไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขั้นสูงเพื่อส่งออก เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืชและแมลง อาหารทางการแพทย์ สารสกัดจากสมุนไพร อาหารเสริมและกลุ่ม Superfood ฯลฯ ยังมีเพียงส่วนน้อยและอยู่ในระยะเริ่มต้น
ดังนั้น การจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุน ร่วมกับการวิจัยและพัฒนาและการได้รับการรองรับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งหากทำได้น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สินค้าที่ถูกผลิตและพัฒนามีโอกาสทางการธุรกิจเพิ่มขึ้น
ที่มา การเงินการธนาคาร