ความต้องการอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการระบาดโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทา ขณะที่สภาพภูมิอากาศ ที่เอื้ออำนวย ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรหรือจีดีพีเกษตร ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2 – 3%
คุณฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2565 ในส่วนของข้าว ทางกระทรวงเกษตรสหรัฐคาดว่าในฤดูกาลผลิต ปี 2564/65 ข้าวของโลกจะมีประมาณ 511 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.87%โดยเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค
ขณะที่การค้าข้าวของโลกจะมีประมาณ 48.67 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 1.37% ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นเช่นออสเตรเลีย บราซิล เมียนมา ไทย ปากีสถานและเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกได้ลดลง เช่น กัมพูชา อินเดีย จีน และสหรัฐ
ด้านประเทศที่คาดว่าจะนำเข้ามากขึ้น เช่น ไอวอรี่โคสต์ สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐ อิหร่าน โมซัมบิก และเนปาล ส่วนประเทศที่จะนำเข้าลดลง เช่น บังคลาเทศ บราซิล ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และเซเนกัล โดยในช่วงปลายปี 2564 มีสต็อกข้าวโลกอยู่ 187.94 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.24%
สำหรับผลผลิตของไทยคาดว่าในปี 2565
มีเนื้อที่รวม70 ล้านไร่ จะมีปริมาณรวม32 ล้านตัน ข้าวเปลือก แยกเป็น
- ข้าวนาปี เนื้อที่ 62.60 ล้านไร่ ผลผลิต 26 ล้านตัน
- นาปรังเนื้อที่ 10.6 ล้านไร่ ผลผลิต 6 ล้านตัน
ข้าวเปลือก ในจำนวนนี้คาดว่าจะบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 17.69 ล้านตัน ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 3.51% เนื่องจากความต้องการบริโภคและการแปรรูปอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 6.5 – 7 ล้านตัน ข้าวสาร มูลค่า 1.2-1.29 แสนล้านบาท
“แม้สินค้าสำคัญอย่างข้าวจะดูสดใสในปี 2565 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านโลจิสติกส์ที่การไหลเวียนของตู้สินค้ายังไม่ปกติและค่าระวางเรือยังสูงอยู่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ การระบาดของโรค”
ส่วน มันสำปะหลัง คาดว่าไทยจะมีเนื้อที่ 9.66 ล้านไร่ผลผลิต รวม 32.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.71% จากการใช้ท่อนพันธุ์ที่ดี ในราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรดับที่ 2.33 บาทต่อ กิโลกรัม (กก.)ผลผลิตส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น,มันอัดเม็ด,แป้งมันสำปะหลังและเอทานอล ซึ่งมีความต้องการมากขึ้น
คาดว่าจะเป็นผลให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปี2564 ที่ส่งออกได้ 9.44 ล้านตันมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ตลาดที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย แยกตามประเภทคือ มันเส้น ส่งออกจีน มันอัดเม็ดส่งออกญี่ปุ่น สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ แป้งมันสำปะหลัง ส่งในจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น แป้งมันสำปะหลัง ในญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซียอย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่าไทยยังต้องนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์บางส่วน จาก กัมพูชา และสปป.ลาว เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการส่วนใหญ่นำมาแปรรูปแล้วส่งออก
ยางพารา คาดว่าผลผลิตโลกจะมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564ที่ผลิตได้รวม 23.38 ล้านตันจากกลุ่มผู้ผลิตยางใหม่ คือกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ขยายพื้นที่ปลูกในปี 2553-55 ซึ่งเริ่มโตและเปิดหน้ากรีดได้แล้ว อีกทั้งหลายพื้นที่อายุยางอยู่ในช่วงเริ่มให้ผลผลิตสูง
ในขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันจากโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงกรณีการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ และความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐที่อาจจะส่งผลความต้องการใช้ยางของโลกชะลอตัวลง
สำหรับประเทศไทย ในปี 2565 คาดว่าจะมีเนื้อที่กรีด 21.84 ล้านไร่ลดลง 0.41%เนื่องจากเกษตรกรโค่นยางอายุมาก แล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผล โดยคาดว่าจะมีผลผลิตยาง4.9 ล้านตันเพิ่มขึ้น 1.66% โดยจะส่งออก 3.96 ล้านตัน ดึงราคาที่เกษตรกรได้รับให้สูงตามไปด้วย จากปี 2564 ที่ขายได้ประเภทยางแผ่นดิบคุณภาพ3 ที่ 51.83 บาทต่อ กก. ลดลง 0.57%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ด้านไก่เนื้อ ของโลกคาดว่าจะมีผลผลิต 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.81%จากปี 64 ขยายตัวตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรคโควิด 19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศ ผู้ผลิตที่สำคัญ ทั้งสหรัฐ บราซิล จีนและอียูขยายการผลิตเพิ่มขึ้น
การส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะ ทำได้ 945,000 ตัน เพิ่มขึ้น 1.32%มูลค่า 103,487 ล้านบาทขยายตัวสอดรับกับปริมาณ ความต้องการบริโภคของตลาด โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และอียูที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด 19
ด้านกุ้ง สมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี2564โดยรวมอยู่ที่ 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปี 2563อยู่ที่2.7แสนตันคาดปี2565ผลิตได้3 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น4% โดยกุ้งของไทยยังมีปัญหา โรคระบาด เช่นโรคหัวเหลืองอีเอชพีขี้ขาว ในขณะที่ราคาและการส่งออก ยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
จากสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรปี2565 ที่มีสัญญาณดีน่าจะเป็นอีกแรงพยุงทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาพรวมและระดับครัวเรือนเกษตรกรให้ผ่านความยากลำบากจากอาการบาดเจ็บเพราะพิษโควิดที่ผ่านมาได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ