สัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มมีการปรับแผนการดำเนินงาน เพราะในอนาคตจะนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างไร?
สัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้น ตั้งแต่การที่ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ช่วงที่ผ่านมา ทำเอาบรรดาธนาคารกลางหลายประเทศ เริ่มจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะพุ่งขึ้น ไม่ต่างจากสหรัฐ ไทยเองก็หนีไม่พ้นภาวะนี้ เพราะล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก็ได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าอาจมีการปรับขึ้น ดอกเบี้ย เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ
กนง.ส่งสัญญาณความกังวลเงินเฟ้อ
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดนั้น คณะกรรมการประเมินว่าไทยมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ค่อยๆชัดเจนขึ้น ดังนั้นกนง.จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความจำเป็นต้องลดลงในระยะข้างหน้า สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อแล้ว
ธุรกิจลีสซิ่งเตรียมขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่
ล่าสุด กลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อหรือลีสซิ่ง ได้ประกาศว่าเตรียมขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ประมาณ 0.1-0.2%. โดยจะให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้. แต่ก่อนหน้านั้นก็จะมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังบรรดาค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ให้ทราบและเตรียมตัวให้พร้อม
ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ย ของลีสซิ่งเป็นการขยับขึ้นไปก่อนที่ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นด้วยซ้ำ สะท้อนว่าคงไม่ได้ปรับเพียงรอบเดียวอย่างแน่นอน หรือตั้งข้อสังเกตได้ว่าหากแบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถก็คงขยับตามอีกรอบ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกลุ่มคนที่จะซื้อรถใหม่ และอาจจะมีผลทำให้ค่างวดรถเพิ่มขึ้นไม่ถึง 100 บาทต่องวด
ธอส.นำร่องขึ้นดอกเบี้ยบ้าน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การที่ กนง. จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง หรือโดยรวมไม่เกิน 0.50% ในปีนี้. หาก กนง.มีการปรับขึ้น ดอกเบี้ย นโยบายในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ธอส. จะทำการตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรือ จะมีการปรับขึ้นในครั้งแรกในช่วงเดือนตุลาคม โดยจะขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของอัตราดอกเบี้ยที่ กนง. ประกาศปรับขึ้นในกรณีที่ กนง. มีการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้ ในส่วนของ ธอส. จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 66 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ และให้เวลาในการปรับตัวของลูกหนี้ ซึ่งจะทำให้กำไรส่วนเกินที่คาดว่าในปี 65 นี้ ที่เดิมคาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 15% ลดลงเหลือเพียงกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ธอส. ยืนยันว่าหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่จะยังไม่กระทบต่อเงินงวดให้มีการปรับขึ้นในทันที หากเงินงวดยังเพียงพอในการตัดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น แต่จะทำให้เงินต้นถูกตัดลดลง ซึ่งมีผลต่อระยะเวลาการผ่อนชำระนานขึ้น เช่น จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น. แต่ถ้าหากดอกเบี้ยในตลาดปรับขึ้นแบบกระชั้นและติดกัน ก็อาจทำให้เงินงวดไม่เพียงพอที่จะไปตัดชำระดอกเบี้ย จึงจะมีผลทำให้ต้องปรับเงินงวดขึ้น แต่เชื่อว่าจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธอส. ที่ช้ากว่าตลาด และขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งของตลาด จะทำให้เงินงวดในการชำระไม่ถูกกระทบและยังคงเท่าเดิมทั้งหมด
หลังจากนี้คงมีแต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ดอกเบี้ย เงินกู้ของภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็คงทยอยปรับขึ้นตามมาอีกหลายอย่าง เราคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและความสามารถในการผ่อนจ่ายอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก : ธอส.