ผู้ว่า ธปท. ระบุเงินบาทอ่อนค่าระดับกลางเทียบสกุลอื่น จากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่ามาก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวใหม่เศรษฐกิจการเงินภาคใต้… ปรับกระบวนทัพ รับกระแสโลก” ในหัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม” ว่า ขณะนี้เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี แต่เป็นการอ่อนค่าในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น เงินเยน เงินวอน และเงินเปโซ เป็นต้น ที่มีทิศทางการอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท

นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า ปัจจัยหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้เงินบาทอ่อนค่ายังมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยยังไม่เห็นเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ เป็นเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จนส่งผลให้เงินบาทอ่อนลง และเมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ก็เป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์อาจจะกลับมาอ่อนค่าอีก หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินการนอกเหนือจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้

“ถามว่า ภาพรวมเงินบาทอ่อนค่าผิดปกติ หลุด หรือผิดเพี้ยนจากชาวบ้านโดยสิ้นเชิงหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เงินบาทอ่อนค่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ค่อนไปทางสูงด้วยซ้ำ โดยดอลลาร์แข็งค่าประมาณ 11% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 7% บาทไม่ได้อ่อนเท่าเงินดอลลาร์แข็ง สะท้อนว่ามันถูกขับเคลื่อนจากดอลลาร์เป็นหลัก ทิศทางเป็นไปตามกลไกตลาด ดอลลาร์แข็งเมื่อไร แนวโน้มบาทก็จะอ่อนค่า ถ้าดอลลาร์อ่อน แนวโน้มบาทก็จะแข็งค่า และ ธปท. มีข้อจำกัดในการที่จะเข้าไปดำเนินการตรงนี้”

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็น คือ การปรับอ่อนค่าหรือแข็งค่าเร็วเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบกับการปรับตัวของผู้ประกอบการในภาคการนำเข้าและส่งออก ซึ่งในประเทศไทย พบว่าสัดส่วนของผู้ประกอบการที่มีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเจอผลกระทบจากโควิด-19 ร้ายแรงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะช้ากว่าประเทศอื่น โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1/66 เนื่องจากโควิด-19 กระทบกับจุดเปราะบางของไทย นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในภาคใต้ที่อาจจะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจประเทศ เพราะเศรษฐกิจภาคใต้พึ่งพาการท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ

“ตอนนี้หลายอย่างดีขึ้น แม้จะมีบางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็ตาม สิ่งแรกที่เห็นคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อาจจะล่าช้า ไม่ได้เร็วอย่างที่อยากจะเห็น แต่มันก็มา เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง สะท้อนจากจีดีพีในไตรมาส 1/65 ขณะที่ไตรมาส 2/65 น่าจะออกมาดี จากการบริโภคในประเทศที่โตต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รายได้คนก็ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ติดลบเยอะ แม้ว่ารายได้ที่โตขึ้นจากมาจากฐานต่ำ แต่เทรนด์ก็ดีขึ้น ช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคดีขึ้น โดยการฟื้นตัวขึ้นดังกล่าว ทำให้ ธปท. ปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้โตที่ 3.3% และปีหน้า 4.2%”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยล่าสุดเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 7.66% เป็นผลมาจากปัญหาสงครามของรัสเซียและยูเครน ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปสูง และมีผลข้างเคียงกับระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทำให้เงินเฟ้อกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทย

ดังนั้น บริบทของนโยบายการเงินในปัจจุบัน จึงต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในการดูแลสถานการณ์เงินเฟ้อ จากช่วงโควิด-19 ที่นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยกรอบเงินเฟ้อของไทยเป็นแบบยืดหยุ่นที่ระดับ 1-3% ทั้งนี้ เงินเฟ้ออาจจะไม่ได้อยู่ในกรอบตลอดเวลา บางช่วงอาจจะหลุดกรอบไปบ้าง แต่ในระยะปานกลางถึงระยะยาว จะยังอยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว

นายเศรษฐพุฒิ มองว่า หน้าที่หลักของ ธปท. คือต้องทำให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อจะไม่ติด ทำให้คนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะไม่ขึ้นไปต่อ เพราะถ้าคนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปต่อเนื่อง จะทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และเงินเฟ้อก็จะขึ้นไปต่อเนื่อง ไม่ใช่ขึ้นแค่ช่วงเดียว และโอกาสจะกลับเข้ากรอบก็จะน้อย หากเงินเฟ้อหลุดกรอบไปแล้ว การดึงกลับมาจะทำได้ลำบาก ซึ่งกลไกปกติ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามจำเป็น เพื่อดูแลกรอบเงินเฟ้อ และนี่เป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการดำเนินการ

พร้อมย้ำว่า การดำเนินนโยบายการเงินในการดูแลอัตราดอกเบี้ย บริบทของ ธปท. ในปัจจุบันต่างกันโดยสิ้นเชิงกับบริบทของธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะเศรษฐกิจของเขาฟื้นตัวเร็วและแรง ส่วนของไทย เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้น โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงิน จึงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เราแค่ถอนคันเร่งน้อยลง จากที่ผ่านมาเราใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน ทำให้เราต้องถอนคันเร่ง ไม่ใช่เหยียบเบรก เพื่อให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้านโยบายการเงินไม่มีการปรับบริบทเลย ผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่เสียหายจะเกิดขึ้น เช่น ถ้าไม่ปรับนโยบายการเงิน ไม่ปรับดอกเบี้ยให้เข้าใกล้ภาวะปกติมากขึ้น เงินเฟ้อก็จะขึ้นไป คนที่จะเดือดร้อนคือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งผมไม่เถียงว่าไทยหากมีการปรับดอกเบี้ยขึ้น จะกระทบทั้งครัวเรือน และภาคธุรกิจ เพราะบ้านเราครัวเรือนหนี้สูง แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มกระทบเขาหนักกว่า ค่าครองชีพเพิ่ม มีผลกระทบต่อครัวเรือนจะหนักกว่าผลกระทบจากดอกเบี้ยและภาระหนี้ขึ้น”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์