นับตั้งแต่ไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าจะเกิดปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งที่ทำให้ให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกเกิดความวุ่นวายโกลาหลเนื่องจากรัสเซียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกสามารถที่จะกำหนดทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตนเองมีอยู่อย่างมหาศาลได้แบบประเทศอื่นเหมือนลูกไก่ในกำมือ
นี่ยังไม่นับรวมถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่บางประเทศจำเป็นต้องนำเข้าจากรัสเซีย และยังมีปุ๋ยเคมีที่หลายประเทศก็ยังต้องพึ่งพารัสเซียอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อสงครามลากยาวเราจึงหลีกเลี่ยงที่จะประสบพบเจอกับภาวะราคาสินค้าแพงเนื่องจากการขาดแคลนไม่ได้
และเมื่อผู้มีอำนาจด้านการเงินไม่สามารถไปแตะต้องในส่วนของการกำหนดปัจจัยในส่วนของซัปพลายได้ ทำให้องค์กรการเงินทั้งหลายเหล่านี้ทำได้เพียงแค่กำหนดทิศทางของดีมานด์ในฝั่งผู้บริโภคเท่านั้น ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นี่ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องนี้เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นก็ทำให้ประเทศที่มีค่าเงินอ่อนแอได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก ไม่เพียงแต่เงินทุนไหลออกแต่ยังรวมไปถึงต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าเดิมในการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาให้แก่ประชาชน
เรื่องราวดูเหมือนจะยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ บางประเทศล้มหายตายจาก อีกหลายประเทศจ่อคิวล้มละลาย ใครจะหยุดวงจรนี้ หรือว่าเราจะต้องก้มหน้ารับชะตากรรมนี้จนกว่าคลื่นลมจะสงบลงไปเอง
เงินไร้ค่า
อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงส่งผลกระทบต่อประเทศตุรเคีย โดยรัฐบาลของตุรเคียประกาศอย่างเป็นทางการว่าตอนนี้เงินเฟ้อของตุรเคียอยู่ที่ระดับ 73% แต่ทุกคนสงสัยว่าในความเป็นจริงมันอาจจะสูงกว่านี้
ถ้าเราไปเดินตามถนนหนทางจะเห็นว่านักวิเคราะห์พูดถูก พ่อค้าใบองุ่นบ่นว่าเขาต้องขึ้นราคาของตั้งแต่ปีที่แล้ว “ตอนนั้นผมจ่ายเงินเท่ากันกับทุกวันนี้แต่ซื้อได้ถึง 5 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ผมสามารถซื้อได้แค่ 300 กรัมเท่านั้น”
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังทำลายมาตรฐานการครองชีพของประชาชน ผู้คนเกิดความโกรธแค้น และก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมา การรุกรานยูเครนของปูติน ส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นมาก รัฐบาลหลายประเทศต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือกับความเดือดดาลของประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากภาวะเงินเฟ้อ แต่การที่รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศกู้ยืมเงินจำนวนมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 บวกกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นของธนาคาร ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศไม่สามารถจะกู้ยืมได้มากกว่านี้อีกแล้ว
Steve Killelea แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังความคิดของประเทศออสเตรเลีย บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดในหลายประเทศและส่งผลให้เกิดความไม่สงบมากขึ้นเรื่อย ๆ
คำทำนายที่น่าเชื่อถือที่สุดของความไม่แน่นอนในอนาคตคือความไม่มีเสถียรภาพในอดีต Sandile Hlatshwayo และ Chris Redl จาก IMF ค้นพบเอกสารฉบับใหม่เกี่ยวกับความน่าจะเป็นที่ประเทศประเทศหนึ่งจะประสบพบเจอกับความไม่สงบทางสังคมอย่างรุนแรงในแต่ละเดือนโดยปกติจะมีเพียง 1% เท่านั้น แต่สิ่งนี้จะเพิ่มเป็น 4 เท่าทันทีถ้าหากประเทศนั้น ๆ ได้เคยเผชิญกับปัญหาดังกล่าวภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า หากประเทศเพื่อนบ้านประสบกับปัญหาดังกล่าว
นี่เป็นข่าวร้าย เนื่องจากความไม่สงบที่มาจากเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องได้ก่อตัวขึ้นหลายปีแล้ว IEP เปิดเผยว่ามีถึง 84 ประเทศที่ความสงบสุขในประเทศน้อยลงนับตั้งแต่ปี 2008 และมีเพียง 77 ประเทศเท่านั้นที่มีการปรับปรุงในเรื่องนี้ โดย IEP ใช้เรื่องการประท้วงที่รุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เป็นมาตรวัด นอกจากนี้ พวกเขายังใช้วิธีการนับจำนวนข่าวที่เกิดขึ้นในพื้นที่สื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในกว่า 130 ประเทศ
IMF ประมาณการว่าในเดือนพฤษภาคมความวุ่นวายทางสังคมจะอยู่ใกล้ระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ของโควิด-19
อาหารและพลังงาน
The Economist ได้สร้างแบบจำลองทางสถิติเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่มาจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงกับความไม่สงบ โดยส่วนหนึ่งใช้ข้อมูลจาก Acled ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระดับโลกเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ความไม่สงบ” (เช่น การประท้วงใหญ่ ความรุนแรงทางการเมือง และการจลาจล) ที่ได้จัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 1997 The Economist พบว่าราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของความไม่มั่นคงทางการเมือง แม้ว่าจะมีการออกมาตรการควบคุมก็ไม่สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้มากนัก
นอกจากนี้ สื่อด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังยังค้นพบสาเหตุของสัญญาณเตือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยวัดจากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอาหารและเชื้อเพลิงที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศยากจน อีกทั้งในส่วนของหนี้สาธารณะของประเทศยากจนก็มีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น และกำลังจะทำสถิติแซงค่าเฉลี่ยโดยปกติของประเทศที่ร่ำรวย โดยเฉลี่ยแล้วประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ประมาณที่ 69.9% (เหมือนมีเงินอยู่ 100 บาท เป็นหนี้ไปแล้วเกือบ 70 บาท) ซึ่งสถิติเหล่านี้มาจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีโดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นและจะแซงหน้าค่าเฉลี่ยในอีกไม่ช้า
อย่างที่รู้ว่าประเทศที่ยากจนมักต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แพงกว่าประเทศที่ร่ำรวยมาก เนื่องจากเครดิตความน่าเชื่อถือในเรื่องการหาเงินมาคืนนั้นไม่เท่ากัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า 41 ประเทศที่มีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็น 7% ของโลก มีความเสี่ยงสูงที่จะ “เผชิญปัญหาหนี้สินอย่างร้ายแรง” อย่างเช่น ประเทศลาว ที่กำลังจะผิดนัดชำระหนี้ในไม่ช้าเนื่องจากประเทศนี้มีผลิตภาพที่ค่อนข้างจะต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบบจำลองของ The Economist ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะเห็น “เหตุการณ์ความไม่สงบ” เกิดขึ้นกับหลายประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีหน้า
มีอีกหลายประเทศสุ่มเสี่ยงที่จะล้มละลาย ตัวอย่างเช่น ในตุรเคียการหยุดชะงักการนำเข้าอาหารและเชื้อเพลิงจากยูเครนและรัสเซีย ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ส่วนหนึ่งก็มาจากนโยบายการเงินที่อ่อนแอ โดยประธานาธิบดี Erdogan เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ มากกว่าที่จะควบคุมเงินเฟ้อ ดังนั้นเขาจึงสั่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าจะต้องสุ่มเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกก็ตาม
และเพื่อปกป้องค่าเงิน Lira ของตุรเคีย โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 นาย Erdogan ได้เรียกร้องให้ประชาชนนำเงินไปฝากไว้ในบัญชีที่ป้องกันการเสื่อมค่าของเงิน โดยรัฐบาลได้ให้สัญญาว่าจะชดเชยส่วนต่างหากเงินฝากเหล่านี้สูญเสียมูลค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่นั้นมาเงินสกุล Lira ของตุรเคีย มีมูลค่าลดลงเกือบ 25% แล้วในปีนี้ ไม่น่าแปลกใจที่เงินของประชาชนกว่า 960,000 ล้าน Lira (55,000 ล้านดอลลาร์หรือ 7% ของ GDP) ถูกดองไว้ในบัญชีพิเศษนี้เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ทำให้เกิดรัฐบาลของนาย Erfogan ต้องคิดหนักเพราะต้องรับผิดชอบส่วนต่างมหาศาลนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Garo Paylan ส.ส. ฝ่ายค้านของตุรเคียบอกว่า “ดูเหมือนว่า Erdagon ได้วางระเบิดเวลาไว้ภายใต้ระบบการเงินนี้เรียบร้อยแล้ว” ซึ่งมันก็อาจจะระเบิดก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 1 ปีเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่านาย Erdogan นั้นน่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้า เว้นแต่ว่าเขาจะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาพลิกกลับมาชนะ
ดังนั้นเขาอาจทำอะไรที่หลายคนคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้ เขาสามารถเริ่มต้นสงครามครั้งใหม่ในซีเรียกับกลุ่ม PPK (กลุ่มกบฏชาวเคิร์ดที่รัฐบาลเรียกผู้ก่อการร้าย) หรือกีดกันฝ่ายตรงข้ามที่แข็งแกร่งออกจากเกมการเมือง Behlul Ozkan จากมหาวิทยาลัย Marmara กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจอาจทำให้ชายผู้แข็งแกร่งที่ปกครองมาเกือบสองทศวรรษถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง
ในแต่ละประเทศพายุเศรษฐกิจโลกได้ทำให้ปัญหาที่ซ่อนเร้นมานานทวีรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างถ้าพูดถึงปากีสถาน ที่ซึ่งมาตรฐานค่าครองชีพที่บีบคั้นผู้คน ช่วยอธิบายว่าทำไมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐสภาจึงขับไล่นายกรัฐมนตรี Imran Khan ออกจากตำแหน่ง ด้วยความร่วมมือของกองทัพ แต่เขาก็ได้ปลุกระดมผู้ชุมนุมที่ให้การสนับสนุนเขาให้ประท้วงเพื่อที่จะทำให้เขาได้ตำแหน่งกลับคืนมา ในอินเดียก็ไม่ต่างกัน เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในอินเดียปะทุขึ้นก็เพราะรัฐบาลมีแผนที่จะลดจำนวนงานที่ไม่มีวันเกษียณของกองทัพออกไป เรื่องนี้ทำให้คนที่เคยได้รับประโยชน์ถึงกับลุกฮือเลยทีเดียว
เรื่องของศรีลังกา
ศรีลังกาเป็นประเทศที่ทำให้นักเศรษศาสตร์ได้รับรู้ถึงรสชาติว่าสิ่งต่าง ๆ สามารถแปรปรวนจนควบคุมไม่ได้ มันเริ่มตั้งแต่ประธานาธิบดี Gotabaya Rajapaksa สั่งแบนสารเคมีการเกษตรเมื่อปีที่แล้ว และบอกให้เกษตรกรหันมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรลดลง
6 เดือนต่อมาเขายกเลิกการแบน แต่ด้วยการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดอื่น ๆ ทำให้ศรีลังกาไม่มีเงินที่จะนำเข้าปุ๋ยเคมีได้เพียงพอ มีการคาดการณ์กันว่าการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไปอาจแย่เสียจนในประเทศไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการบริโภค ทั้งนี้ศรีลังกายังคงต้องการอาหารและเชื้อเพลิง แต่ก็ไม่สามารถนำเข้าได้ และล่าสุดศรีลังกาได้กลายเป็นประเทศที่ล้มละลาย 100% และรอคอยเพียงการช่วยเหลือจาก IMF เท่านั้น
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ผู้ประท้วงปะทะกับผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาล พวกเขาผลักรถเมล์ลงทะเลสาบ หรือไม่ก็จุดไฟเผา พวกเขาเผาบ้านนักการเมืองและทุบพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศให้กับครอบครัวราชปักษา ทหารต้องคอยผลักดันผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปในบ้านพักนายกรัฐมนตรี
แต่ชาวศรีลังกายังคงโกรธจัด ชั้นวางของในร้านค้าที่ว่างเปล่า ไม่มีแม้กระทั่งสินค้าพื้นฐานอย่างขนมปัง ภาพผู้คนต่อแถวรอเติมน้ำมันเป็นชั่วโมง โรงเรียนและหน่วยงานราชการปิดให้บริการชั่วคราว รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหน้าที่ IMF เดินทางถึงกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องแนวทางการช่วยเหลือ
เศรษฐกิจของประเทศไหนจะระเบิดเป็นรายต่อไป
ที่จริงแล้วไม่มีใครบอกได้ว่าประเทศไหนจะเป็นเหยื่อรายต่อไปของเงินเฟ้อระดับเป็นประวัติการณ์แบบนี้ แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นไปในทางเดียวกันว่า คาซัคสถานอาจเป็นรายต่อไปก็ได้ เพราะมีข่าวว่ารัฐบาลของคาซัคสถานได้เรียกกองกำลังของรัสเซียเข้ามากดดันและควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศแล้ว นี่อาจเป็นกลิ่นของความล้มเหลวอะไรบางอย่างภายในประเทศก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็น คีร์กีซสถาน ที่พึ่งพาข้าวสาลี และเงินทุนจากประเทศรัสเซียในสัดส่วนที่มาก แถมยังเปลี่ยนประธานาธิบดีมาแล้วกว่า 3 คนนับตั้งแต่ปี 2005 ก็ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายทั้งนั้น
มูฮัมหมัดวัย 23 ปี ที่มีอาชีพขายหม้อข้างถนน บอกว่า ครึ่งหนึ่งของคนที่อายุต่ำกว่า 30 ในนั้นจำนวน 1 ใน 3 ตกงาน สลัมรอบ ๆ ตูนิส “คนหนุ่มสาวที่นี่ไม่มีอะไรจะเสีย พวกเขาจะเข้าร่วมการจลาจลเพียงเพื่อโอกาสที่จะขโมยโทรศัพท์และปล้นร้านค้า”
ผมรู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้ายันเย็น ไม่มีใครจ่ายเงินเพื่อสันทนาการตัวเองหรือเพื่อท่องเที่ยวเลย”
Meher El Horchem ทำงานที่คาเฟ่แห่งหนึ่งใน Goubellat ย้ำว่า ตอนนี้ธุรกิจที่เมืองนี้กว่า 70-80% กำลังค่อย ๆ หายไปเนื่องจากกำลังซื้อของผู้คนที่ลดลง เขาบอกว่า ถ้าคุณเอาเงิน 20-dinar (ประมาณ 6.40 ดอลลาร์) เดินเข้าไปในร้านค้า คุณแทบจะซื้ออะไรที่นั่นไม่ได้เลย
เขาเป็นคนวัย 30 ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แน่นอนว่าเขาต้องการที่จะแต่งงานเหมือนอย่างคนอื่น แต่เขาไม่สามารถที่จะจับจ่ายซื้อของอะไรได้เลย เพราะเงินเฟ้อได้กัดกินมูลค่าของเงินค่าจ้างที่เขาได้รับ
“ผมไม่สามารถที่จะมีชีวิตได้อย่างที่ผมอยากจะมี คนวัยหนุ่มสาวที่นี่ทุกคนต่างก็ประสบปัญหาเดียวกันทั้งหมด พวกเขาโกรธเกรี้ยวกับระบบการเงินที่ไม่เป็นธรรมกับคนยากจน ผมก็ได้แต่หวังและขอพรกับพระเจ้าว่า เรื่องนี้จะไม่นำไปสู่สงครามกลางเมือง”
การหยุดงานประท้วงของพนักงานประจำรถบัสและรถไฟมีขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2022 ในตอนนั้นรัฐบาลของตูนิเซียพยายามที่จะเจรจากับ IMF แต่กลุ่มสหภาพแรงงานของระบบขนส่งมวลชนต้องการให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะลง
ประชาชนชาวตูนิเซียปรารถนาที่จะมีอาหารไว้กินเท่านั้น ไม่ได้อยากจะได้การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่ทว่านโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเขียนขึ้นมาเพื่อทำให้ประชาชนมีแต่ความแร้นแค้น ซึ่งตูนิเซียเองก็เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศ ที่ตรึงราคาอาหารที่ประชาชนใช้บริโภคหลัก ๆ อย่างเช่น ขนมปัง ซึ่งการที่รัฐช่วยอุดหนุนราคาขนมปังนั้นก็ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากราคาข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลตูนิเซียถึงกับต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจาก IMF
ในขณะที่เกษตรกรในประเทศเองก็จำใจต้องขายธัญพืชให้กับรัฐในราคาที่ต่ำ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายตรึงราคาอาหารเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งการที่เกษตรกรต้องขายผลผลิตในราคาที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็ส่งผลให้พวกเขาไม่อยากจะปลูกอีกต่อไป เพราะปลูกไปก็ไม่คุ้มกับต้นทุน
Neji Maroui เกษตรกรรับจ้างรายหนึ่งในตูนิเซียบอกว่า จริง ๆ แล้วดินที่นี่ดีมาก แถมพื้นที่เพาะปลูกก็กว้างใหญ่ ถ้าพวกเขาสามารถปลูกข้าวสาลีแล้วได้ราคาดีเท่ากับที่ขายในตลาดโลก พวกเขาคงปลูกข้าวสาลีมากขึ้นแน่ ๆ แต่นี่พวกเขาขายข้าวสาลีได้ราคาน้อยกว่าตลาดโลกถึง 5 เท่า ดังนั้นก็คงไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลี
Youssef Cherif แห่ง สถาบัน Columbia Global Centre ในตูนิเซีย บอกว่า เงินเฟ้อกระตุ้นให้เกิดการทุจริต โดยเฉพาะในประเทศยากจน ข้าราชการแต่ละคนมักจะต้องเลี้ยงดูสมาชิกหลายคนในบ้าน เพื่อค่าใช้จ่ายในสิ่งของสาธารณูปโภคและบริโภคก็สูงตามไปด้วย สิ่งนี้เย้ายวนให้เกิดแรงจูงใจในการติดสินบนเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามไปด้วย
และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียจะออกมารับผิดชอบต่อภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อก็มักออกมาตำหนิการทำงานของรัฐบาลของตนเองอยู่ดี
อย่างในเปรู ประธานาธิบดี Pedro Castillo ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ด้วยสโลแกน “จะไม่มีคนจนในประเทศที่ร่ำรวยอีกต่อไป” แต่พิษของโควิด-19 ก็ดูจะเป็นผู้ร้ายทำลายฝันหวานของนาย Castillo เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั้นพุ่งทะยานสูงกว่าประเทศใด ๆ ในโลก
และแม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเปรูจะกำลังค่อย ๆ ดีขึ้น แต่สงครามรัสเซียยูเครนก็มาฉุดมันลงไปอีกครั้ง สาเหตุมาจากเรื่องของราคาปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากรัสเซีย โดยเปรูต้องนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากรัสเซียในสัดส่วนถึงกว่า 70% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ และตอนนี้เกษตรกรในเปรูก็กำลังประสบปัญหาไม่มีปุ๋ยเคมีใช้ ซึ่งก็อาจนำไปสู่เรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรถีบตัวสูงขึ้นในอนาคต
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกษตรกรของเปรูรวมตัวกันปิดถนนประท้วงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยที่ราคาข้าวของแพงขึ้นอย่างมาก พวกเขาเผารองเท้าบูธ ร้านค้าถูกทุบทำลายเสียหาย ซึ่งประธานาธิบดีของเปรูก็แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิม ๆ นั่นคือการสั่งล็อกดาวน์ นคร Lima เมืองหลวงของเปรู ซึ่งนักวิจารณ์การเมืองมองว่า การกระทำดังกล่าวของนาย Castillo นั้นเป็นเผด็จการ
ยกเว้นว่า เปรู จะมีปริมาณปุ๋ยสำรองในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มากกว่านี้ การเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งถัดไปอาจจะลดลงไปอยู่ในระดับที่น้อยจนน่าตกใจ นาย Castillo กำลังทยอยแจกจ่าย Guano ซึ่งเป็นปุ๋ยสูตรดั้งเดิมที่เปรูเคยผลิตขึ้นมาใช้เองในปริมาณที่มากเมื่อครั้งนานมาแล้ว
ไม่นานมานี้เขาบอกกับเกษตรกรว่า “มีแต่คนขี้เกียจเท่านั้นที่จะอดอยาก” ประโยคนี้ทำให้ประชาชนที่ฟังไม่พอใจเป็นอย่างมาก ชาวนาในเปรูรายหนึ่งนามว่า Arnulfo Adrianzén บอกว่า ถ้าพวกเขาไม่เห็นนาย Castillo ทำอะไรสักอย่างที่จริงจังต่อการแก้ปัญหานี้เขาจะต้องเจอการประท้วงครั้งใหญ่จากเกษตรกรทั่วประเทศ ประวัติศาสตร์ของเปรูระบุว่า ในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้เปรูเปลี่ยนประธานาธิบดีไปถึง 5 คนด้วยกัน ซึ่งก็นับว่าไม่มีใครอยู่ในตำแหน่งได้นานเลย
ระบอบการปกครองของบางประเทศก็มักจะปกปิดความไม่สงบโดยใช้กำลังเข้าบังคับ ตัวอย่างเช่น ไม่มีใครคิดว่าถ้ามีการประท้วงในจีนแล้วผู้ชุมนุมประท้วงจะไม่ถูกจับ ในเติร์กเมนิสถานที่ซึ่งการขาดแคลนอาหารมีมานานแล้วเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ประชาชนคนใดก็ตามที่ซื้อขนมปังในปริมาณที่มากกว่าที่ทางการกำหนดไว้จะถูกจำคุก 15 วัน ชาวอียิปต์เองก็ระมัดระวังในการคอลเอาต์มากขึ้น อย่างเช่นในปี 2556 การประท้วงครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายในอียิปต์สิ้นสุดลงเมื่อรัฐบาลสังหารหมู่ประชาชนกว่า 1,000 คน
ในยูกันดา ประธานาธิบดี Yoweri Museveni บอกให้ประชาชนกินมันสำปะหลังหากไม่มีขนมปัง คำพูดดังกล่าวทำให้ผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องให้ผู้คนออกไปเดินขบวนประท้วงประธานาธิบดี ย้อนไปในปี 2011 Kizza Besigye อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้นำการประท้วงในช่วงที่เงินเฟ้อพุ่งสูง ต่างออกไปประท้วง ที่ในครั้งนี้นาย Besigye ไม่ได้มีโอกาสออกไปนำขบวนอีกแล้ว เพราะรัฐบาลได้กักบริเวณเขาไว้เป็นที่เรียบร้อย
การประท้วงในยูกันดาดูเหมือนยากจะประสบความสำเร็จ รัฐบาลยูกันดาก็เหมือนกับรัฐบาลอียิปต์ที่ไม่มีความปรานีถ้าจะต้องยิงผู้ประท้วงพวกเขาก็กล้าทำ นอกจากนี้ ชาวยูกันดาจำนวนมากยังมีชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ ซึ่งทำให้การประท้วงยากที่จะอยู่ได้นาน ที่ยูกันดาถ้าพวกเขาไม่ทำงาน พวกเขาจะไม่มีกิน ความโกรธแค้นของประชาชนยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชาวยูกันดาใช้จ่ายเงินกว่า 43% ของรายได้ไปกับค่าอาหาร ดังนั้นถ้าราคาอาหารสูงขึ้นพวกเขาก็ยิ่งเจ็บปวด
ระบอบเผด็จการในยูกันดากำลังเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพื่อทำลายความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน รัฐจำเป็นจะต้องถ่ายโอนทรัพยากรให้ไปอยู่ในความดูแลของกองกำลังความมั่นคงมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นการลดความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจขึ้น นาย Besigye บอกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพในยูกันดานั้นแข็งแกร่งกว่าที่เคย แต่ก็มาจากเงินภาษีประชาชนจำนวนมากที่ปรนเปรอให้กับกองทัพ
ความโกลาหลสู่ภาวะถดถอย
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้อาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกสะดุดได้ เหล่านักลงทุนก็ต่างพร้อมที่จะเทขายสินทรัพย์ที่ตัวเองถือได้ทุกเมื่อที่ม็อบบุกไปเผาโรงงาน ไม่ก็เดินขบวนขับไล่รัฐบาล งานวิจัยของ Metodij Hadzi-Vaskov และ Luca Ricci นักเศรษฐศาสตร์ของ IMF และ Samuel Pienknagura นักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank พบว่า ความไม่สงบอันเกิดมาจากปัญหาปากท้องและของแพงในตอนนี้อยู่ในระดับปกติที่เข้าใจได้อันเนื่องมาจากการลดลงของ GDP ที่เป็นผลมาจากนโยบายทางการเงินของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้เศรษฐกิจถดถอย และทำให้ผู้คนพากันโกรธเกรี้ยวและไม่พอใจการแก้ปัญหาของรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศตัวเอง
นอกจากนี้ พวกเเขายังชี้ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจสังคม อย่างเช่น เงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อมโยงกับการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นเรื่องที่มาจากปัจจัยทางการเมือง อย่างเช่น การทุจริตการเลือกตั้ง
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ความไม่สงบนั้นมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจสังคมและปัจจัยทางการเมือง ผลกระทบที่ตามมาคือการหดตัวของ GDP ชนิดที่เรียกว่าเกินจินตนาการ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ การจลาจลที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาใต้ปี 2021 เมื่อโควิดได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอดีตประธานาธิบดีที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุจริตได้ยุยงให้กลุ่มที่สนับสนุนเขาออกมาประท้วงเพื่อให้เขาหลุดพ้นจากคดีทุจริต ในตอนนั้น GDP แอฟริกาใต้หดตัวไปกว่า 1.5%
ความจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบโดยทั่วไปแล้วจะทำให้หุ้นตก แต่ผลกระทบนี้ในอดีตนั้นไม่ได้มีความสำคัญต่อประเทศที่มีการเมืองที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือว่า สังคมจะรับมือกับความโกลาหลได้ดีขึ้นเมื่อมีสถาบันที่ดีและยึดมั่นในหลักนิติธรรม
สิ่งหนึ่งที่ผู้ประท้วงทั่วโลกมีเหมือน ๆ กันก็คือ พวกเขาต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ โปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่บางครั้งเรื่องนี้ก็อาจต้องใช้เวลา และเสถียรภาพทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าในระยะสั้นก็อาจจะมีอุปสรรคบ้างแต่เราก็จำเป็นที่จะต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้
อ้างอิง