เมื่อโลกต้องยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และนับวันจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ความร่วมมือที่จะก้าวร่วมกันสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นมติที่หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ทุกภาคส่วนต่างร่วมใจที่ก้าวสู่เส้นทางนี้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมลงนามในกรอบดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2558 จากวันนั้นถึงวันนี้รวมระยะเวลากว่า 5 ปี หลังการลงนามตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของบริบทโลก และดำเนินการไปตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะทีมผู้รวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศปี 2559-2563บอกว่าประเทศไทยได้เริ่มก้าวแรกของการเดินตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการสร้างกลไกการทำงาน หน่วยงานที่ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงาน หรือได้เริ่มสร้างทางเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันแล้ว
พร้อมเล่าที่มาที่ไปว่า ปี 2015 (พ.ศ. 2558) ประชาคมโลกเสร็จสิ้นเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ คือ Millennium Development Goals — MDGs ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Summit) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ 2543 (ค.ศ. 2000) จากการประเมินและทบทวน พร้อมระบุว่าประชาคมโลกจะต้องมีบทใหม่ในการพัฒนาต่อไป นั่นคือวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals — SDGs) 17 เป้าหมาย เป็นเรื่องที่ครอบคลุมบริบทใหม่ในการพัฒนาอีก 15 ปี สิ้นสุดในปี 2030 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกได้ลงนามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกับ 169 ประเทศ ว่าจะเดินตามกรอบนี้
“การลงนาม SDGs นี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่ข้อกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นกรอบการพัฒนา เป็นจุดเริ่มของไทย ก้าวแรกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.ธัชไทกล่าว
ดร.ธัชไทเล่าถึงการดำเนินการหลังลงนามดังกล่าวว่า “ยูเอ็น มีวาระ (ปี ค.ศ. 2030) กับเป้าหมาย SDGs 17 ด้าน เป็นก้าวแรกที่จะไปสู่ความยั่งยืน ปี 2030 (ปี พ.ศ. 2573) ไทยเริ่มก้าวสู่วาระนี้ในปี 2559 ถามว่า SDGs ในระยะ 5 ปีแรกเราทำอะไร เราสร้างกลไกการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนให้ได้ และบอกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าคุณต้องทำอะไรให้ต่อเนื่องจาก MDGs ว่าจะต้องอัปเกรดอะไรบ้าง อะไรที่จะต้องเติมมากขึ้น ขอให้หน่วยงานทำความเข้าใจ ทำตรงนั้นขึ้นมา จากนั้นเราได้กำหนดโรดแมปเป็นทางเดินของเราสู่เป้าหมาย โดยโรดแมปสอดคล้องกับเป้าหมายประเทศ”
ดังนั้น กรอบการทำงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการทาบวาระเป้าหมายของโลกในปี 2030 (พ.ศ. 2573) แต่ประเทศไทยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่ครอบเป้าหมาย SDGs แต่ไทม์ไลน์จะคาบเกี่ยวกัน เพราะ SDGs เริ่มปี 2559 ส่วนยุทธศาสตร์ชาติเริ่มปี 2561 ดังนั้น การทำ 2 เรื่องนี้ หากเราไม่สนใจอะไรเลย ก็ทำ 2 เรื่องแยกกัน หน่วยงานก็จะทำงบประมาณที่จะแยกกันทำ สิ่งที่สภาพัฒน์ทำคือเอา 2 เรื่องให้เข้ามาผนวกกัน เมื่อเราวิเคราะห์แล้ว ทั้ง 2 เป้าหมายเป็นเรื่องการพัฒนา แต่ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องบริบทของไทย ขณะที่ SGDs เป็นบริบทโลกทำเพื่อประชาคมโลก
“ทั้งสองแผนคือหลักการเดียวกันเป็นเรื่องของการพัฒนาแต่ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นบริบทของไทย ขณะที่ SDGs เป็นบริบทของโลก เพราะฉะนั้นเรากำหนดทางเดินเดียวกัน แต่มีเป้าหมายคือ แผน SDGs ปี 2573 (2030) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2580 (2037) แต่สุดท้ายเราอยากเดินไปเป้าหมายเดียวกันในปี 2580 คือทำให้เป็นประเทศที่มีความสุข พัฒนาแล้ว เทียบเคียงกับบริบทของโลกได้”
ประเมิน 5 ปีของ SDGs ไทยอยู่ตรงไหน
ดร.ธัชไท บอกว่า ล่าสุดคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) ได้ออกรายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศปี 2559-2563 เพื่อประเมินการดำเนินการใน 5 ปีแรกว่าการพัฒนายั่งยืนของไทยเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราจะดูรายงานต่างประเทศที่ระบุว่าทำอะไรไปถึงไหน แต่หากดูลึกๆ ในกระบวนการประเมินของต่างประเทศ อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดเอาไว้ อย่างการประเมินบางอัน ปีนี้กับปีที่แล้ว เขาจะเปลี่ยนวิธีระเบียบการวิจัย ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ และบริบทต่างประเทศจะไม่เหมือนบริบทของไทย ของไทยไม่ได้เน้นที่ปริมาณแต่วัดในเรื่องคุณภาพ ด้วยความพยายามนี้ เราคิดว่าการดำเนินการ SDGs ใน 15 ปี เราจะทำรายงานการประเมินทุก 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี แต่ระหว่างนี้จะมีการรวบรวมข้อมูล อัปเดตข้อมูล เพื่อนำมาใช้การอ้างอิงได้
“กระบวนทำรายงานการประเมินค่อนข้างยาก ในเชิงวิชาการ SDGs ครอบคลุมบริบทหลายมิติ และสหประชาชาติไม่ได้คิดค่าเป้าหมายการดำเนินการให้แต่ละประเทศ เนื่องจาก 169 ประเทศทั่วโลกมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศไทยมีอัตราว่างงานกี่เปอร์เซ็นต์ หรือโลกต้องว่างงานกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการประเมินที่ไม่มีค่าเป้าหมายจึงเป็นเรื่องท้าทาย”
เพื่อแก้ปัญหาที่การดำเนินการตาม SDGs ไม่มีค่าเป้าหมายที่ชัดเจน ดร.ธัชไท ได้หารือร่วมกับ UN ว่า เมื่อไม่มีค่าเป้าหมายโลก ไทยก็สามารถกำหนดค่าเป้าหมายได้โดยนำเอาค่า SDGs กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมากำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยนำการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ว่าอะไรบ้างตอบโจทย์ SDGs ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้วย
ประเมินแบบผสมผสาน “ปริมาณ-คุณภาพ”
เมื่อไม่มีค่าเป้าหมายที่ชัดเจน จึงกำหนดวิธีการประเมินเป็นแบบผสมผสาน โดยในเชิงปริมาณ ใช้วิธีการกำหนดค่าเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เช่น SDGs ไม่ได้กำหนดค่าการว่างงานเอาไว้ ดังนั้น จึงนำเอายุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดค่าว่างงานเอาไว้เท่ากับร้อยละ x ภายในปีเท่าไหร่ มากำหนดค่าเป้าหมาย x ในเป้าหมายของ SDGs เพื่อให้สามารถประเมินในเชิงปริมาณได้
ขณะเดียวกันการประเมินในเชิงคุณภาพ โดยจะพิจารณาตามลักษณะการดำเนินงาน เช่น เรื่องต่างประเทศ อาจจะประเมินเชิงปริมาณไม่ได้ แต่ประเมินเชิงคุณภาพว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs อย่างไร เพราะฉะนั้น วิธีการประเมิน SDGs 5 ปี จึงใช้วิธีการทำงานแบบผสานวิธี ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ
หลังได้ผลการประเมินจะนำเอาค่าสีมาแบ่งระดับการดำเนินการ เช่น สีแดง หมายถึงต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ สีส้มต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง, สีเหลือง ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย และสีเขียว บรรลุเป้าหมาย ซึ่งกำหนดค่าสีเพื่อบอกสถานะการดำเนินการถือเป็นจุดเด่นของรายงาน SDGs 5 ปี
สถานะไทย บรรลุเป้าหมาย SDGs 30%
ผลการประเมิน รายงาน SDGs 5 ปี ในระดับเป้าหมายย่อย SDG Targets ทั้ง 169 เป้าหมาย พบว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 52 เป้าหมาย ค่าสถานะสีเขียวบรรลุเป้าหมายร้อยละ 100 ของค่าเป้าหมายที่ UN กำหนดไว้ คิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 30.8 ขณะเดียวกันมีอีก 74 เป้าหมายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.8 มีค่าสถานะสีเหลือง ต่ำกว่าค่าเป้าหมายในช่วงร้อยละ 75-99
ขณะที่อีก 34 เป้าหมายย่อย ร้อยละ 20.1 อยู่ในเกณฑ์สถานะสีส้ม ระดับเสี่ยง เนื่องจากมีค่าคะแนนต่ำกว่าเป้าหมายที่ UN กำหนดไว้ในระดับที่ร้อยละ 50-74 อีก 9 เป้าหมายย่อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.3 ที่อยู่ในเกณฑ์สีแดง หรือระดับเสี่ยงขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีค่าคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน(ดูภาพประกอบ)
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นเกณฑ์เสี่ยงขั้นวิกฤติ สภาพัฒน์ได้ส่งสัญญาณเตือนให้ทราบถึงสถานะของตัวเอง เพื่อต้องดำเนินการแก้ไข โดยหากพิจารณาแล้วพบว่าข้อมูลผิดให้ปรับข้อมูล แต่ถ้าข้อมูลถูกต้อง หน่วยงานเหล่านี้ต้องเหยียบคันเร่งในการแก้ไขปัญหาเพื่อไปให้ถึงตัวเป้าหมายให้ได้”
แผนฯ 13 เหยียบคันเร่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
แม้ว่าผลการประเมินทั้งหมดถูกส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เหยียบคันเร่ง แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยไม่สามารถเหยียบคันเร่งได้ ทั้งยังเข้าเกียร์ถอยหลัง เช่น ในเรื่องความยากจน เรื่องของความยุติธรรม ความปลอดภัย แต่เป้าหมายเราอยู่ที่เดิม พอเราถอยหลัง ก็ต้องเหยียบคันเร่งให้ไปให้ได้ นี่คือที่มาของการเหยียบคันเร่งที่เราจะส่งสัญญาณให้ทุกหน่วยงาน
ดังนั้น หลังโควิด-19 ต้องเหยียบคันเร่งเพื่อไปให้ถึง แต่จะเหยียบคันเร่งอย่างไรนั้น ดร.ธัชไท บอกว่า อาจต้องพิจารณาโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงปีหน้า
การเหยียบคันเร่งให้ไปถึงเป้าหมายให้เร็วขึ้น คณะกรรมการ กพย. ได้กำหนดให้แต่ละเป้าหมายต้องมีผู้ประสานหลัก เช่น เรื่องความยากจน ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งในเรื่องนี้มี 10 เป้าหมายย่อย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้ดูแลต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กรณีความยากจน กระทรวงมหาดไทยต้องหารือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานเอกชนที่ทำ CSR เรื่องความยากจน เพื่อร่วมกันดำเนินการแก้ปัญหา รวมไปถึงภาครัฐอาจต้องมีโครงการหรือแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย
ส่วนภาคเอกชนซึ่งทำเรื่อง SDGs จำนวนมาก ดร.ธัชไท เห็นว่า ถ้าหากได้บูรณาการเครือข่ายร่วมกัน เพราะว่าภาคเอกชนมีโครงการหลากหลาย ถ้ามีการทำโรดแมปให้เอกชนเดินไปด้วยกัน จะสร้างพลังแรงขับเคลื่อนได้ โดยภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องรอภาครัฐ สามารถดำเนินการได้เลย เช่น โตโยต้าและเครือข่าย ทำโครงการถนนสีขาว เนื่องจากปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เป็นปัญหามากในประเทศไทย แม้ภาครัฐไม่เคยส่งสัญญาณ แต่เอกชนเขาดำเนินการอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของภาคเอกชนในอนาคต สภาพัฒน์จะหารือร่วมกับภาคเอกชนในการกำหนด corporate index ที่เหมาะสมที่สามารถประเมินผลการดำเนินงานของภาคเอกชนได้ โดยผลการดำเนินงานดังกล่าวสามารถรวมเป็นการประเมิน SDGs ภาพรวมของประเทศได้
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลเป้า SDGs ชะลอ
ดร.ธัชไท ยอมรับว่า การระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้เป้าหมายของ SDGs ชะลอตัว หรือถอยหลังลงไปจากเดิม เช่น เป้าหมายในเรื่องของความยากจน ความหิวโหย ปัญหาเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ ขณะที่การเหยียบคันเร่งช่วงนี้ทำได้ยาก เพราะงบประมาณยังนำไปใช้กับการจัดการปัญหาสาธารณสุขและการเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
“โควิดทำให้ไทยเหยียบคันเร่งทำได้ไม่สุด เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านของการระบาดของโควิด-19 ต้องใช้เวลาสักพักที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์เข้าสู่ปกติ ไทยจะสามารถเหยียบคันเร่งได้เต็มที่”
การเหยียบคันเร่งไม่สุดทำให้เป้าหมาย SDGs ปี 2573 หรือ 2030 จะขยับออกไปหรือไม่ ดร.ธัชไท มองว่า ถ้าทำให้ประเทศบรรลุตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2580 นั่นหมายถึงต้องการให้เป็นประเทศที่พัฒนา ประชาชนมีความอยู่ดีมีสุข หรือประเทศอยู่ดีมีสุข ประเทศไทยจะต้องมีอัตราการเติบโตของ GDP ประมาณร้อยละ 5 ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถึงจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
“แต่ปัจจุบัน GDP โตประมาณ 1-2% ทำให้การไปถึงเป้าหมายหลักจะต้องมีปัจจัยสนับสนุนจำนวนมาก เช่น มีการลงทุนขนาดใหญ่จึงจะสามารถกระตุ้นการเติบโตของ GDP ให้ได้ร้อยละ 5 ต่อปีต่อเนื่องได้ ดังนั้นการเดินไปถึงเป้าหมายการอยู่ดีมีสุข หรือความยั่งยืน จึงถือเป็นเรื่องท้าทาย”
ที่มา ไทยพับลิก้า