“ปัญหาค่าครองชีพ” เป็นของขวัญปีกระต่ายที่คนไทยไม่อยากรับ
แม้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะยอมตรึงค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 ในส่วนของบ้านเรือนที่ใช้ไฟไม่มากไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย พร้อมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลพวงจากต้นทุนค่าไฟในส่วนของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 รอบในปี 2565 พ่นพิษกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง
“แม้ กกพ. จะทบทวนค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย.66 ให้เอกชน แต่ก็ยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบได้ เพราะยังมีต้นทุนอื่น ๆ ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่เพิ่ม และยังไม่นับรวมดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปี’66”
เอกชนนำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ตลอดจนถึงนักวิชาการต่างทัดทานการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า พร้อมชี้ให้เห็นว่าการปรับค่าไฟฟ้า จะกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปี’66 ขยับเพิ่มขึ้นอีก 0.5% จากที่คาดการณ์ไว้ 3.0% เป็น 3.5%
เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็จะเชื่อมโยงให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตาม ยิ่งดอกเบี้ยสูง คนที่มีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถจะลำบาก และจะย้อนมาทำให้ “กำลังซื้อ” ของประชาชนจะหดลง ท้ายสุดจะไปกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.5% ก็อาจจะไปไม่ถึง
“ภาระค่าใช้จ่าย” รายเดือนคนไทยที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เคยคำนวณไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ 18,146 บาทต่อเดือน ซึ่ง 41.55% เป็นค่าอาหาร ส่วน 58.45% ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหาร นำโด่งเลยคือ ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ 23.34% หรือ 4,235 บาท
ตามด้วยค่าเช่าบ้าน ก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 22.14% หรือ 4,018 บาท อันดับ 3 คือ ค่าแพทย์ ค่ายา และบริการส่วนบุคคล 5.39% หรือ 978 บาท ซึ่งแน่นอนว่าต้นปีกระต่ายค่าใช้จ่ายพวกนี้จะขยับขึ้น ในขณะที่ “รายได้” ยังไม่ขยับตาม
อย่างไรก็ตาม ในมุม กกพ.ให้เหตุผลว่า การพิจารณาปรับค่าไฟเป็นเพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้น จากเดิมไทยมีก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผลิตไฟฟ้าใช้ แต่หลังเปลี่ยนตัวผู้รับสัมปทานใหม่
ซึ่ง “ขลุกขลัก” ทำให้ผลิตได้ไม่เต็มกำลังอย่างที่หวังไว้ ไทยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้วัตถุดิบ LNG นำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้า LNG SPOT ที่มีราคาสูงหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ภาครัฐพยายามแก้ปัญหาด้วยการไปใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทนบ้าง บวกกับยืดอายุโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาช่วย แต่ก็ยังไม่สามารถทัดทานต้นทุนที่สูงขึ้นได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ต้องช่วยแบกภาระไว้เกือบถึง 1.5 แสนล้านแล้ว
ผลจากวิกฤตพลังงานครั้งนี้ กระทรวงพลังงานเร่งแผนพลังงานแห่งชาติ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น กระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตไฟฟ้าที่หลากหลายแหล่งมากขึ้น พร้อมทั้งเตรียมแผนหา LNG สำรองต่าง ๆ
แต่หลายคนมองว่าหากคิดตามกลไกตลาด เมื่อสินค้าล้น ราคาต้องลดลง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับไฟฟ้า ที่ล้นแต่ราคาไม่ลดลง เพราะติดสัญญาเรื่องค่าความพร้อมจ่าย
เจ้ากระทรวงพลังงานออกมาแถลงว่า ไม่สามารถ “ทบทวนโครงสร้างค่าไฟ” ด้วยการไปเขย่าสัญญาซื้อขายที่ทำไว้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ และโยนลูกไปว่า “มันไม่ใช่สัญญาที่ทำในรัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลไหนทำมาก่อนก็จะไม่โทษกัน”
ซึ่งผลการไม่ปรับสัญญาซื้อขายไฟ หมายถึง รัฐยังต้องเตรียม “เงิน” เพื่อจ่ายเป็นค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชนที่โรงไฟฟ้าเหมือนเป็นค่าประกันความเสี่ยงให้เอกชน เพราะเมื่อเอกชนลงทุนผลิตไฟฟ้าใช้งบฯลงทุนมหาศาล ดังนั้นไม่ว่าจะมีการซื้อไฟฟ้าหรือไม่ รัฐก็ต้องจ่ายเงินให้เขา เพื่อแลกกับความมั่นคงทางพลังงาน
เจ้ากระทรวงพลังงานทิ้งท้ายว่า ตอนนี้อยากคุยกับเอกชนแล้ว ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะให้ดี “โรงไฟฟ้าก็เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ส่วนธนาคารก็เป็นสมาชิก กกร. แล้วเหตุใดเอกชนจึงไม่มาอาสาสมัคร (volunteer) มาช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกัน” เช่นว่า ลดดอกเบี้ยให้สักหนึ่งปี หรือมีมาตรการอื่น ๆ แบบที่ทำในช่วงโควิดบ้าง
รัฐ-เอกชนก็ว่ากันไป แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเรา ทางเดียวที่จะรอดในปีกระต่ายกรอบ คงหนีไม่พ้นการประหยัด ถึงแม้ว่าจะรัดเข็มขัดจนกิ่วแล้วก็ยังต้องทำต่อไป จนกว่าจะมี “รัฐบาลใหม่” งัดไม้เด็ดมาช่วยค่าครองชีพได้
ที่มา ประชาชาติ