เทรนด์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยยังมาแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองปี 67 ตลาดเติบโต 6% รับสังคมสูงวัย

ในวันที่ประเทศไทยมีประชากรสูงวัย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Silver Gen โตวันโตคืน จากข้อมูลของกรมการปกครอง คาดการณ์ว่าในปี 2570 จำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 13% จึงทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยเติบโตต่อเนื่องทุกปี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2024 ตลาดยังขยายตัวได้ 6% หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท จึงถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการและแบรนด์ต้องจับตามอง เพื่อสร้างโอกาสเติบโตในตลาด

 

ตลาดอาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพสำหรับสูงวัยยังแรง โตแตะ 34,000 ล้านบาท

ถ้าพูดถึงตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพในไทย เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยตลาดมีมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านบาท จากเทรนด์รักสุขภาพ ที่ส่งผลให้คนหันมาออกกำลังกาย รวมถึงเลือกดื่มเครื่องดื่มและกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกันมากขึ้น แต่หากโฟกัสที่ตลาดเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย ปัจจุบันยังมีสัดส่วนไม่สูง โดยในปี 2565 มีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท

แต่จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มขึ้น จากในปี 2566 คาดว่ามีอยู่ราว 13 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน ภายในปี 2570 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ปี 2567 อาจจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6% จากปีที่ผ่านมา

โดยตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.อาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาด ซึ่งเหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจ่ายและต้องการอาหารที่เข้ามาช่วย ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง หรือมีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 100,000 บาทขึ้นไป กลุ่มนี้มีสัดส่วนเกือบ 22% ของประชากรผู้สูงอายุไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

สำหรับกลุ่มอาหารที่คาดว่าจะมีความต้องการมากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารออร์แกนิก อาหารที่ปรับปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับวัยกับโรค (ไขมัน น้ำตาล โซเดียมต่ำ) ควรเน้นชูคุณภาพ วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย

2.อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แม้จะมีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่จะเพิ่มขึ้น จาก 4.1 แสนคนในปี 2564 คาดเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคน ภายในปี 2580 กลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ซึ่งโอกาสอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาล ในการผลิตหรือหาช่องทางจำหน่ายร่วมกัน

 

เติบโตบนความท้าทาย แนะผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์รับมือ

แม้ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจะเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง แต่ตลาดนี้ก็เป็นตลาดที่มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตอาหารทั่วไป การแข่งขันอย่างรุนแรง รวมถึงกำลังซื้อผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สูงมาก จากข้อมูลพบว่า 34% ของจำนวนผู้สูงอายุไทยมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ทำให้ค่าใช้จ่ายในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยในปี 2567 อาจเติบโตได้เพียง 1.5% จากปีที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ เพื่อรักษายอดขายและฐานลูกค้า

สำหรับทิศทางตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยนับจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการขยายตัวของผู้สูงวัย ทั้งอาหารสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป และอาหารทางการแพทย์สำหรับกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง สอดรับกับมูลค่าตลาดอาหารทางการแพทย์ในหลายประเทศที่เผชิญสังคมสูงวัย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ในปี 2568-2570 ที่สามารถเติบโตเฉลี่ยราว 6.4% 7.0% แ ล ะ 7.3% ต่อปี ตามลำดับ

หากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลาย และทำราคาให้เข้าถึงได้ง่าย ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด รวมถึงโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีจ านวนผู้สูงอายุมาก อาทิ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น

ที่มา brandbuffet