คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร.ว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง หลายประเทศมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป แต่การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดน้อยกว่าในช่วงของการระบาดของสายพันธุ์เดลตามาก เนื่องจากความรุนแรงของโรคลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงชะลอลงบ้างแต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ดังนั้นภาคการส่งออกของไทยยังมีโอกาสที่จะยังเติบโตหากสามารถป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดมีผลกระทบรุนแรงต่อ supply chain ของภาคการผลิตได้
โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโอไมครอนภาคเอกชมองว่า อาจไม่รุนแรงมากนัก โดยในกรณีฐาน การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่มีความรุนแรงลดลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ภาครัฐสามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการล็อกดาวน์ควบคู่กับการเร่งระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนเพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ตลอดจนการปรับตัวของผู้คนตามวิถีปกติใหม่ และการระมัดระวังป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) ทำให้คาดว่าจะกระทบกับ Sentiment ทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะจำกัดเพียงระยะสั้นหรือราวไตรมาสแรกของปี 2565
ส่วนการท่องเที่ยวอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในระยะสั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศ มีการยกระดับการเตือนภัยโควิด-19 เป็นระดับ 4 และขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดและการเคลื่อนย้ายของคน อย่างไรก็ดีคาดว่า ผลจากโอไมครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลงและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และยังให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในประเทศในระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติคาดการณ์ว่าจะกลับมาปลายเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปี ประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศ ประมาณ 5-6 ล้านคน
ทั้งนี้ กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0 – 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0-5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2-2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
สำหรับ กกร. ได้มีประเด็นข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้ Regulatory Guillotine กกร.เห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เช่น ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startupปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle)
นอกจากนี้ในเรื่องของกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 วันที่ 13 ธ.ค.64 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 มีความไม่ชัดเจนทำให้อัตราการจัดเก็บไม่ได้ลดลง 90% ตามข้อเสนอของ กกร.แต่อย่างใด และอัตราการจัดเก็บยังเป็นไปตามอัตราเดิมเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 94 โดยมาตรการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลง แต่เนื่องจากปัจจัยปัญหาด้านสาธารณสุขและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2563 และปี 2564 ยังคงมีผลกระทบต่อไปในปี 2565-2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
โดยที่ประชุม กกร.จะมีการนำเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90 %ออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พรก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บางประเภทเพิ่มเติม อีกหนึ่งฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีกร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม กกร.มีความกังวลในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรอบด้าน และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน