คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เกาหลีใต้เป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยที่น่าจับตามอง เนื่องจากไทยมียอดส่งออกสินค้าไปเกาหลีใต้ขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 5,373 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกมูลค่า 987 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 21% อาทิ ยางพารา บวก 62% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป บวก 37% น้ำตาลทราย บวก 27% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง บวก 25% และปลาหมึก (มีชีวิต สด แช่เย็นแช่แข็ง) บวก 11% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกมูลค่า 4,012 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 37% อาทิ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ บวก 69% คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ บวก 60% เคมีภัณฑ์ บวก 43% แผงวงจรไฟฟ้า บวก 42% และผลิตภัณฑ์ยาง บวก 37%
คุณอรมน กล่าวว่า ปี 2565 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในภาคการผลิตของเกาหลีใต้อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ โดยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 2 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ซึ่งเกาหลีใต้ได้ยกเลิกเก็บภาษีนําเข้าสินค้าให้ไทยกว่า 90.9% ของรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางพารา เนื้อปลาและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และน้ำตาลดิบ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้กับเกาหลีใต้ในวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยเกาหลีใต้จะยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทย สัดส่วน 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด
คุณอรมน กล่าวต่อว่า สำหรับความตกลง RCEP ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่มเติมจาก AKFTA หลายรายการ อาทิ ทุเรียน มังคุด ฝรั่ง มะละกอ และอินทผาลัม เก็บภาษีที่อัตรา 24-36% และไม้ยางพารา อัตราภาษี 5% โดยจะทยอยลดจนเหลือศูนย์ ในปี 2574 สำหรับปลาซาร์ดีนกระป๋อง ทูน่าแปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป เก็บภาษีที่อัตรา 20% อาหารสัตว์เลี้ยง อัตราภาษี 40.4% เด๊กตรินและโมดิไฟด์สตาร์ช อัตราภาษี 100.6-192.8% และแป้งมันสำปะหลัง อัตราภาษี 5% ซึ่งจะทยอยลดจนเหลือศูนย์ ในปี 2579 ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เก็บภาษีที่อัตรา 20% และภาษีนอกโควตา 40% จะทยอยลดภาษีจนเหลือศูนย์ในปี 2584
“ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสสะสมถิ่นกำเนิดในเครือข่ายการผลิตสินค้าจากสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ ซี่งใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ทำให้มีความสอดคล้องและยืดหยุ่นมากขึ้น และยังสามารถสะสมวัตถุดิบในการผลิตได้จากหลายแหล่งมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อขยายส่งออกสินค้าไปตลาดเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งตรวจสอบสิทธิประโยชน์ในกรอบ FTA ต่าง ๆ และเลือกใช้ให้ความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ” คุณอรมน กล่าว
ที่มา มติชน