“พาณิชย์” เดินหน้า “ตลาดนำการผลิต” ฝ่าด่านโอมิครอน โชว์แผนดันส่งออกไทยปี 65 เป้าโต 4% อธิบดี DITP ยังมั่นใจตลาดคู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกยังขยายตัว เร่ง MOU มินิเอฟทีเอกับเมืองรอง อีกตัวช่วยขยายตลาดสินค้าไทย ส่วนส่งออกปี 2564 คาดปิดจ๊อบโตสูงถึง 15-16%
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกและยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก การค้าโลกปี 2565 สุ่มเสี่ยงชะลอตัว และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัจจัยลบจากโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดแล้ว แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะหลายประเทศเริ่มกลับมาทำการค้า และมีการปรับตัวไปสู่การค้าออนไลน์มากขึ้น ทำให้การค้าโลกยังขยายตัวต่อไปได้
สำหรับในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีแผนจะเร่งอัดกิจกรรมเพื่อรุกตลาด ทั้งตลาดเก่า ตลาดใหม่ และตลาดเมืองรองอย่างเข้มข้นตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ให้นโยบายตลาดนำการผลิต
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ในปีนี้กรมมีแผนงานสำคัญที่จะต้องผลักการส่งออกของไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ ซึ่งยังคงใช้ยุทธศาสตร์ “รุกตลาดศักยภาพเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่ และขยายสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก” ผ่านนโยบายขยายตลาดและช่องทางการค้าเชิงรุก โดยใช้ตลาดนำการผลิต (Demand Driven) ในตลาดเป้าหมายต่างๆ โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกไทยมีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลงในภาพรวม โดยคาดการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 3-4% หรือมีมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการประเมินหลังเกิดสถานการณ์โอมิครอน (เดิม สนค. ประเมินไว้ที่ 3.5 – 4.5%) ส่วนปี 2564 คาดจะขยายตัวได้ 15-16%
สอดคล้องกับคาดการณ์การส่งออกของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดการณ์ (ณ เดือน ธ.ค. 64) มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 3.5% โดยปรับลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.7% (เมื่อเดือน ก.ย. 64) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์จะขยายตัวที่ 5-8%
อย่างไรก็ดีการส่งออกในปีนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอนในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่กระทบต่อความเชื่อมั่น รายได้และกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดที่อาจขยายวงกว้างขึ้น รุนแรงและยืดเยื้อ หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้จำนวนประเทศที่ใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอาจมากขึ้น และนานกว่าที่ประเมินไว้ หรือหลายประเทศรวมถึงไทยอาจใช้มาตรการควบคุมการระบาดภายในประเทศเป็นวงกว้าง รวมถึงปัญหา supply disruption ที่จะยังคงยืดเยื้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โดยการ ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ มีแนวโน้มคลี่คลายช้ากว่าที่คาดไว้เดิม จากมาตรการควบคุมการระบาดของจีนที่ยังเข้มงวด
ทั้งนี้แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยผลักดันส่งออกไทยได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจคู่ค้ามีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะอยู่ในอัตราที่ชะลอลง แต่คาดจะจำกัดอยู่ในช่วงแรกของปี 2565 ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก และราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันรวมถึงการที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 จะช่วยขยายโอกาสการส่งออกของไทย
“กรมยังมีแผนจะเร่งทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ และจะมีการลงนามในเร็วๆ นี้ ได้แก่ รัฐเตรังคานาของอินเดีย และมณฑลกานซู่ของจีน รวมถึงเมืองรองใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ปูซาน เซี่ยงไฮ้ อาบูจา โจฮันเนสเบิร์ก เซินเจิ้น ที่ทางสภาอุตสาหกรรมฯร้องขออยากให้หน่วยงานรัฐทำมินิเอฟทีเอกับเมืองเหล่านี้ด้วย เพราะมองว่ามีศักยภาพโดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร เครื่องสำอาง และสินค้าสุขภาพของไทย”
สำหรับแผนผลักดันรุกตลาดศักยภาพเดิม เปิดเพิ่มตลาดใหม่นั้น ปีนี้กรมจะเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกสินค้าผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญต่างๆ โดยตลาดเดิม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อียู เอเชียตะวันออก อาเซียน และจีน โดยใช้กลยุทธ์ ผลักดันสินค้าหรือธุรกิจบริการศักยภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงของไทย ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้า Natural Product Expo West (NPEW) 2022 เจาะตลาดเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ งานแสดงสินค้า The 19th CAEXPO ที่เมืองหนานหนิงของจีน งานแสดงสินค้า Top Thai Brands ที่มณฑลไห่หนานและเมืองคุนหมิงของจีน เป็นต้น
ส่วนตลาดใหม่ ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ รัสเซีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และแอฟริกาเหนือ (MENA) จะใช้กลยุทธ์ สร้างโอกาสให้สินค้าไทยในตลาดที่มีศักยภาพ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ งานแสดงสินค้า Top Thai Brands ณ เมืองปูเน่ อินเดีย TOP Thai Brand ณ เมืองดูไบ (UAE), งานแสดงสินค้า Automechanika และ Gulfood ณ เมืองดูไบ (UAE) เป็นต้น
ที่มา: นสพ.ฐานเศรษฐกิจ